นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และการจัดการผลกระทบ" ว่า กรมการแพทย์ยืนยันมาตลอดว่าสนับสนุนการใช้สารสกัดกัญชาเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น โดยไม่สนับสนุนการใช้ด้านสันทนาการอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ กรมฯ ยึดหลักการทำงาน 3 ข้อ คือ ความปลอดภัยกับประชาชน ผู้ป่วยต้องได้รับประโยชน์ และไม่มีจุดยืนแอบแฝง โดยการใช้กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่จะไม่เป็นทางเลือกแรกในการรักษา
ด้าน นพ.เฉลิมพล ไชยรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เมื่อประมาณต้นปี 62 ได้เกิด First Wave พบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น เฉลี่ยประมาณ 150-200 ราย/เดือน ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการสื่อสารกับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และมีการอบรมเรื่องกัญชา ทำให้แนวโน้มผู้ป่วยลดน้อยลง อยู่ที่ประมาณ 50-100 ราย/เดือน และคงที่มาตลอดถึงช่วงปลายปี 64
ทั้งนี้ หลังจากที่ประเทศไทยมีการปลดล็อกกัญชา ในวันที่ 9 มิ.ย. 65 เริ่มเห็นแนวโน้มการเกิด Second Wave พบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการใช้กัญชาสูงขึ้นจากเดือนพ.ค. 65 โดยคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจากกัญชาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย. 65 ซึ่งทางการแพทย์จะต้องมีการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการให้ความรู้ การให้บริการ และการปรับโครงสร้างห้องฉุกเฉิน เป็นต้น
นพ.เฉลิมพล กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. - 4 ก.ค. 65 ผู้ที่มารับบริการห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาแล้ว 31 ราย (ยังไม่พบผู้เสียชีวิต) อายุเฉลี่ย 28 ปี ส่วนใหญ่มีอาการโรคทางระบบประสาทและจิตประสาท รองลงมา คืออาการโรคหัวใจ และอาการโรคทางเดินอาหาร ตามลำดับ โดยมีสาเหตุมาจากการใช้ด้านสันทนาการ 86% และอื่นๆ อีก 25.8% โดยไม่มีการใช้ทางการแพทย์เลย ซึ่งแตกต่างจากช่วง First Wave ที่ส่วนใหญ่มาจากการใช้ทางการแพทย์
ด้าน นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารในกัญชาทางการแพทย์ มี 2 ชนิด คือ THC (Tetrahydrocannabinol) ทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม และโรคจิต ประสาทหลอนได้ ส่วนฤทธิ์ทางยา คือ ใช้แก้อาเจียน ลดปวด และคลายกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ หากมีการดื้อต่อสาร อาจทำให้ต้องเพิ่มขนาดที่ใช้ จึงอาจเกิดการเสพติดได้ ส่วน CBD (Cannabidiol) มีสรรพคุณต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย นำมาใช้ทางการแพทย์ คือลดปวด คลายกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมลมชักที่ดื้อยา ทั้งนี้ จะกระตุ้นอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่ไม่มีฤทธิ์เสพติด
นพ.สหภูมิ กล่าวว่า ในทางการแพทย์ได้มีการนำสารในกัญชาทั้ง 2 ชนิดมาใช้ โดยมีข้อบ่งชี้ตามกรมการแพทย์ ทั้งหมด 6 ข้อ ซึ่งจะใช้ได้เมื่อการรักษาปกติไม่ได้ผลเท่านั้น และไม่ใช้เป็นยาเริ่มต้น ได้แก่ 1. อาการคลื่นไส้อาเจียน จากการรับยาเคมีบำบัด 2. อาการเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่น้ำหนักตัวน้อย 3. อาการปวดประสาท 4. กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทอักเสบ (โรคเอ็มเอส) 5. โรคลมชักที่ดื้อยา และ 6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือระยะสุดท้ายของชีวิต
นอกจากนี้ มีบางโรคที่ขณะนี้ยังมีข้อมูลสนับสนุนจำกัด ควรต้องศึกษาเพิ่มเติม พิจารณาหากรักษาเต็มที่แล้วยังคุมอาการไม่ได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือญาติ โดยมีเป้าหมายการใช้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคปลอกประสาทอักเสบ ทั้งนี้ มีบางโรคที่มีข้อมูลสนับสนุนว่าไม่ควรใช้ เช่น โรคต้อหิน และภาวะสมองเสื่อม
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ มีข้อห้ามในการใช้ผลิตภัณฑ์ THC คือ 1. มีประวัติแพ้สาร 2. โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคปอด หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ 3. เป็นโรคจิตมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล และ 4. ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร สตรีผู้ไม่ได้คุมกำเนิด หรือวางแผนจะมีบุตร ทั้งนี้ ให้ระมัดระวังในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ติดสารเสพติด สุรา นิโคติน และผู้ใช้ยาที่มีฤทธิ์ง่วงซึม
นพ.สหภูมิ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปี 62 ที่รายงานประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยจากการใช้กัญชา พบว่า โรงพยาบาลได้จ่ายกัญชาให้ผู้ป่วยไปแล้ว 109,932 ราย ผลการรักษาประมาณ 50% มีอาการดีขึ้น ขณะเดียวกันพบผลข้างเคียงน้อย ดังนั้น สรุปได้ว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง เป็นระบบ ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. 61-พ.ค. 62 มีรายงานผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยเฉพาะการใช้น้ำมันกัญชา รวมทั้งหมด 302 ราย เนื่องจากมีการใช้แบบไม่ถูกต้อง
"หากได้รับสารกัญชา และมีอาการต่างๆ นั้น ในการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียาต้านพิษ อย่างไรก็ดี กัญชาส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือด" นพ.สหภูมิ กล่าว
นพ.สหภูมิ กล่าวถึงคำแนะนำเรื่องการใช้กัญชาในอาหาร คือ ไม่ให้ใส่ช่อดอก เนื่องจากมีปริมาณสาร THC สูงที่ 10-30%, ข้อมูลสาร THC ในใบกัญชามี 1-2% ในประเทศไทย ใบกัญชามีสาร THC โดยประมาณ 1-2 มิลลิกรัม ถ้าเป็นใบให้ใช้ 1-2 ใบ, การผ่านความร้อนทำให้ THC อยู่ใน active form แนะนำเมนูที่ไม่ผ่านความร้อนนาน, THC ละลายในไขมันได้ดี ละลายในน้ำได้น้อย และที่สำคัญคือ ควรระบุกลุ่มที่ห้ามกินให้ชัดเจน
"เราเน้นกัญชาทางการแพทย์ เรื่องการนำมาทำอาหาร ไม่ใช่การใช้ที่บ่งชี้ทางการแพทย์ ดังนั้น ถ้าไม่ใส่กัญชาในอาหารตั้งแต่แรกก็จะไม่มี THC ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายออกมา ประชาชนควรดูแลตนเองโดยการดูป้ายว่าร้านไหนใส่กัญชา ซึ่งทางร้านก็ต้องระบุให้ชัดเจน" นพ.สหภูมิ กล่าว
นพ.สหภูมิ กล่าวถึงในเรื่องภาษีของกัญชาว่า ตัวอย่างในรัฐโคโลราโด และวอชิงตัน ที่เปิดการใช้กัญชาเสรี ได้มีการเก็บภาษีกัญชา ขณะเดียวกันมีรายงานเรื่องการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ว่าพบมากขึ้น และพบผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเสพติดมากขึ้น โดยมีสถิติของรัฐโคโลราโด ว่า การปลดล็อกกัญชาเสรี จะนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยรัฐโคโลราโด พบว่า ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รัฐบาลเก็บภาษีได้ จะต้องใช้เงินในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กัญชา 4.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าขาดทุน
"บ้านเราจะเก็บภาษีเท่าไร ถ้าปล่อยสันทนาการ และจะคุ้มกับที่เก็บหรือไม่ เมื่อมีกฎหมายออกมาก็ควรคำนึงเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมด้วย ซึ่งหากเป็นการปลดล็อกกัญชาเสรีแบบไม่มีกฎกติกา ก็จะไม่มีภาษี เงินก็จะเข้ากระเป๋าพ่อค้าทั้งหมด นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงหลังจากนี้ คือ ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่อาจจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในการตรวจหาสารเสพติด แม้กัญชาจะสร้างรายได้ แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องนึกถึงทั้งความปลอดภัยของผู้ไม่เสพ ไม่ใช้ THC และการตรวจคัดกรองคนทำงาน การเปิดกัญชาเสรีสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นแล้วว่ามีคนเสพเพิ่มขึ้น เด็กเข้าถึงง่ายหรือไม่" นพ.สหภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลกระทบของการใช้กัญชาต่อระบบประสาทว่า การใช้กัญชาในระยะสั้น มีผลต่อการทำงานของสมอง เช่น ความจำ การตัดสินใจ การควบคุมตนเอง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยผู้เสพระยะแรก จะมีอาการเคลิ้ม ผ่อนคลาย สงบ โดยมีผู้เสพส่วนน้อย จะมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือ panic attack ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณ THC ที่ได้รับ และความโน้มเอียงทางพันธุกรรมของผู้เสพว่ามีแนวโน้มเกิดอาการทางจิตหรือไม่ ทั้งนี้ พบว่า ภายใน 10 ปีหลังเริ่มเสพกัญชา มีผู้เสพประมาณ 6% เข้าเกณฑ์เป็นผู้เสพติด นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า ผลของกัญชาต่อสมอง การเรียน การทำงาน และสุขภาพจิต จะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้กัญชาที่มีปริมาณมาก และเป็นเวลานาน อายุที่เริ่มใช้ในเด็กหรือวัยรุ่น สัมพันธ์กับการติดกัญชาระยะยาว และสัมพันธ์กับโรคจิตเวช ได้แก่ โรคจิต โรควิตกกังวลทางสังคม กระตุ้นอาการทางอารมณ์ของกลุ่มโรคไบโพลาร์
สำหรับการใช้กัญชาในวัยรุ่น ในระยะยาวมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวช มีผลเสียต่อสมองในด้านความคิดและความจำ นอกจากนี้ การใช้กัญชามักสัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดอื่นๆ โดยกัญชาเป็นเสมือน gateway drug ของสิ่งเสพติดอื่นๆ อีกหลายประเภทในวัยรุ่น ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงในการเกิดโรคทางจิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ในอายุน้อย
ส่วนการใช้กัญชาในทารกและเด็ก ทารกในครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางสมอง ทั้งความจำ การเรียนรู้ และเกิดปัญหาพฤติกรรม รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเสพกัญชาเมื่อโตขึ้น และมีอาการทางระบบประสาทบางอย่างที่อาจถึงตายได้ รวมทั้งยังมีอาการทางระบบเส้นเลือดหัวใจด้วย
นพ.บุรินทร์ กล่าวถึงข้อแนะนำทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชา ดังนี้
1. ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาโรค หรืออาการของโรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ปัจจุบัน
2. ไม่ควรเริ่มใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย (แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป)
3. ควรแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีอัตราส่วน CBD ต่อ THC สูง เพราะมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่า CBD ช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจาก THC
4. ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้จากการสังเคราะห์ (synthetics cannabis products)
5. การสูบกัญชาแบบเผาไหม้เป็นประจำ ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ ไม่ควรใช้การสูบกัญชา
6. การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในความถี่สูง หรือมีความเข้มข้นสูง เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
7. แนะนำให้งดการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา
8. ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในกรณีผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช ผู้ติดยาและสารเสพติดอื่นๆ หรือหญิงตั้งครรภ์
9. หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหลายประการด้วยกัน เช่น ผู้มีอายุน้อย