กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ในช่วงวันที่ 9 - 14 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2565 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
กอนช.ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) แล้ว พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 8-14 ก.ค.65 ดังนี้
1.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง
- ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเชียงของ เทิง เวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวง และแม่สาย) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และสบเมย) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง และอุ้มผาง) จังหวัดน่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครพนม (อำเภอธาตุพนม) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอ หว้านใหญ่ และหนองสูง)
- ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก และปากพลี) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี) จังหวัดสระแก้ว (อำเภอเมืองสระแก้ว) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ ขลุง ท่าใหม่ มะขาม และนายายอาม) จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ คลองใหญ่ และบ่อไร่)
2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและสาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด
3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์