นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นโยบายกัญชา เป็นนโยบายเสรีทางการแพทย์ ที่เข้ามาแล้วต้องทำ เพราะตอนร่วมรัฐบาล ก็ได้นำนโยบายนี้ไปทำเป็นนโยบายรัฐบาลด้วย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ถามหลายครั้งว่าจะทำอย่างไร หมอ ผู้เชี่ยวชาญก็ได้อธิบาย จนกลายเป็นนโยบายเร่งขึ้นมา
"เรื่องของการปลดล็อกกัญชา คนที่เซ็นคือรมว.สาธารณสุข แต่คนที่พิจารณาผ่านเข้ามาคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในนามนายกฯ ท่านชงเรื่องขึ้นมา เราก็ต้องเซ็น เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน ยังใช้เวลาตั้ง 3 ปี ตอนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ส. เขาก็มีหลายหน่วยงานมาช่วยกันศึกษา เพราะมีความกังวลเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ผลกระทบด้านต่างๆ ก็จึงออกมาเป็นการปลดล็อกเพื่อใช้ทางการแพทย์ สิ่งที่สังคมคุยกันตอนนี้ เราคุยกันที่ประชุมแล้ว" นายอนุทิน กล่าว
ปัจจุบัน พ.ร.บ.กัญชา อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการ น่าจะเสร็จสิ้นในเดือนส.ค. นี้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ จะนำไปร่างเป็นกฎหมายแน่นอน โดยคณะกรรมาธิการ มีทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ
"เราก็เร่งออก ระหว่างนั้นก็ใช้ประกาศของหน่วยงานมาก่อน แล้วที่ใครมาบอกว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ อย่าไปดูแคลน เพราะตอนนี้มีการดำเนินคดีกันแล้ว" นายอนุทิน กล่าว
ส่วนกรณีที่มีมวนกัญชาวางขาย และมีการสูบที่ถนนข้าวสารนั้นว่า เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะประกาศของกระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้วว่าห้ามสูบในที่สาธารณะ
"สรุปคือกฎหมายเรามีแล้ว ทั้งประกาศของกระทรวงสาธารณสุข กทม. กระทรวงมหาดไทย ประกาศของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นั่นคือกฎหมาย อะไรที่นอกเหนือจากนั้น เรียกว่าผิดกฎหมาย" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตรากฎหมายแล้ว หน่วยงานอื่นก็มีกฎหมาย ทั้งนี้ เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง ก็ต้องลงพื้นที่ไปดูแลประชาชน
"ยกตัวอย่างในกระทรวงสาธารณสุข ถ้าพบเห็นการผลิตยาเถื่อน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเจ้าพนักงาน สามารถเข้าไปหยุดการกระทำ ดำเนินคดีได้ ส่วนเรื่องกัญชา เราไม่มีหน่วยงานของกระทรวงฯ ที่จะเข้าไปชาร์จ เข้าไปจับกุม ต้องให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าไปจัดการ ถ้ามีคนสูบกัญชาในที่สาธารณะ ควันพุ่งออกมาเลย ตำรวจเห็น จับได้ เพราะก่อให้เกิดความรำคาญ ซึ่งก็ตรงกับประกาศของกรมอนามัยแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานเข้มข้น คนมันจะระมัดระวังในการใช้มากขึ้น" นายอนุทิน กล่าว
ส่วนความกังวลว่าเด็กจะเสพกัญชาในโรงเรียน นายอนุทิน กล่าวว่า หากว่ากันตามกฎหมาย ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามใช้กัญชาในโรงเรียน ห้ามคนอายุต่ำกว่า 10 ปี ใช้กัญชา ซึ่งการที่เด็กมีกัญชา นำไปโรงเรียน และสูบนั้นผิดกฎหมาย ดังนั้น เจ้าพนักงานต้องไปหาดูว่าเด็กได้มาจากไหน ซึ่งคนเอาให้ คนขายให้คือผู้กระทำผิดกฎหมาย ขณะนี้มีกฎหมายออกมาควบคุมแล้ว เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจัดการได้
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้สนับสนุนการใช้เพื่อเสพ สูบ หรือสันทนาการ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย โดยมีการออกข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือป้องกันการเข้าถึงในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
ทั้งนี้ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลชัดเจนว่า กัญชาและสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ บำบัดรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วยได้จริง โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาล ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ จึงไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตราย
สำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยชัดเจน ได้แก่ การดูแลภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมีบำบัด, โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
2. กลุ่มที่ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์ หรือใช้ในลักษณะของการควบคุมอาการ มี 4 โรค ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคปลอกประสาทอักเสบ
3. กลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์ในอนาคต คือ การใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
"การใช้กัญชาทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์จะต้องผ่านการอบรม และได้รับใบอนุญาตในการจ่ายยากัญชา โดยกรมการแพทย์ได้ออกคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ โดยล่าสุดเป็นฉบับที่ 4 เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานในการใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์มากที่สุด" นพ.รุ่งเรือง กล่าว