นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการตรวจกว่า 500 ราย พบสายพันธุ์ BA.1 จำนวน 5 ราย สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 283 ราย และสายพันธุ์ BA.4/BA.5 จำนวน 280 ราย
ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศนั้น ในพื้นที่ กทม.จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงกว่าภูมิภาคซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาสัดส่วนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 เริ่มจาก 12% เป็น 50% เป็น 68% และ 72% ส่วนภูมิภาคเริ่มขึ้นจาก 6% เป็น 17% เป็น 34%
"ขณะนี้ BA.4/BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ที่มาแซง BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมาก มีความเร็วระดับหนึ่ง" นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ในประเทศไทย พบว่า น่าจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต มากกว่าสายพันธุ์ BA.2 แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนจะมีการเก็บตัวอย่างจากคนที่ปอดอักเสบ คนที่ใส่ท่อ และเสียชีวิตมาตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งในสัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า
"มาตรการส่วนบุคคลยังมีความจำเป็น เพราะหากมีผลยืนยันว่าแพร่เร็วขึ้นและรุนแรงขึ้นจะทำให้มีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราช่วยกันหยุดแพร่กระจายได้ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง เพราะเราไม่ต้องการจะออกมาตรการอะไรที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวัน" นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศมีทิศทางทรงตัว เพราะมีสัดส่วนสูงราว 77-78% อยู่แล้ว
ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดในต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าสายพันธุ์ BA.5 แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.4 ที่ทรงตัว และสามารถต่อสู้หรือหลบภูมิต้านทานได้ดีกว่า แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องอาการว่ารุนแรงไม่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นเรื่องอาการยังไม่มีข้อสรุปที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ส่วนการวิจัยในห้องปฏิบัติการของญี่ปุ่นพบว่า สายพันธุ์ BA.4/BA.5 มีการกลายพันธุ์บน spike protein ทำให้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนไวรัส, ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ BA.1 และ BA.2, แพร่กระจายในเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 และผลการทดลองในหนูพบว่า BA.4/BA.5 ทำให้ป่วยหนักกว่า BA.2