นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 70.47% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 65.38%
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 617,204 คน ตายเพิ่ม 1,095 คน รวมแล้วติดไป 566,020,541 คน เสียชีวิตรวม 6,383,840 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จากตัวเลขรายงานของทั่วโลกจะเห็นว่าค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อประชากร 1 ล้านคนของโลก ทวีป และประเทศนั้น สะท้อนให้เห็นว่ากำลังอยู่ในขาขึ้นกันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นของไทย ที่ตัวเลขรายงานแต่ละวันนั้นไม่ได้สะท้อนจำนวนติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจริง แต่เลือกรายงานเฉพาะที่ป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาล
สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทยจากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้กระทรวงสาธารณสุขไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ทั้งนี้ การรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อระบบข้อมูลของสากลที่ใช้ในการเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างประเทศและภาพรวมของโลกได้
หากมาดูค่าเฉลี่ยรอบ 7 วันของจำนวนเสียชีวิตใหม่ต่อประชากร 1 ล้านคน จะเห็นว่า จำนวนการเสียชีวิตของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ของทวีปเอเชีย และสูงกว่าอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความไม่สอดคล้องกันของตัวเลขติดเชื้อที่รายงาน และตัวเลขการเสียชีวิต ซึ่งตอกย้ำว่าตัวเลขติดเชื้อที่รายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงนั่นเอง
ดังนั้นหากตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการรับรู้ของประชาชนในประเทศ และผลกระทบต่อการเฝ้าระวังระหว่างประเทศ การกลับทิศทางนโยบายให้หันมารายงานตัวเลขการติดเชื้อที่สะท้อนสถานการณ์จริงนั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้เป็นไปในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับการระบาดของไทยเราตอนนี้ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ใส่หน้ากากให้ถูกต้องสำคัญมาก
นอกจากนี้ ล่าสุด Office for National Statistics (ONS) ได้ออกรายงานวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 อัพเดตสถานการณ์ที่สำรวจการติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร พบว่ามีการติดเชื้อกันมากขึ้นกว่าเดิม โดยพบว่าประชากรในประเทศอังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และสก็อตแลนด์ มีการติดเชื้อคิดเป็นสัดส่วน 1:19, 1:17, 1:17, และ 1:16 ตามลำดับ
Yamasoba D และคณะวิจัยจากญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการวิจัยใน bioRxiv วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 โดยศึกษาพบว่า BA.2.75 นั้นมีลักษณะการดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้ในการรักษาหลายชนิด เฉกเช่นเดียวกับ Omicron สายพันธุ์ย่อยที่ระบาดมาก่อน แต่ยาแอนติบอดี้บางชนิดก็ยังสามารถใช้ได้ผลในการจัดการเชื้อ เช่น Regdanvimab, Sotrovimab, Tixagevimab
ในขณะที่ Cao YR จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการแบบไม่เป็นทางการ ชี้ให้เห็นว่า BA.2.75 นั้นมีแนวโน้มจะจับกับตัวรับ ACE2 ได้มากกว่า BA.4 และ BA.5
แต่ในเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันนั้น ศึกษาโดยดูภูมิคุ้มกันจากคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่า BA.2.75 ดื้อกว่า BA.2.12.1 แต่อาจน้อยกว่า BA.4 และ BA.5 ยกเว้นกรณีที่เป็นคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามาก่อน BA.2.75 จะดื้อต่อภูมิมากกว่าคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron BA.1 และ BA.2 มาก่อน
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการ และจากการวิจัยอื่นๆ ในเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ยืนยันลักษณะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ BA.2.75