พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT กล่าวว่า กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ส่งต่อข้อความผ่านกลุ่มไลน์สื่อและช่องทางอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์หลังถูกแก๊งมิจฉาชีพปลอมไลน์ส่วนตัว และติดต่อขอยืมเงินกับบุคคลใกล้ชิด พร้อมแจ้งความร้องทุกข์ขอให้ตำรวจดำเนินคดีกับมิจฉาชีพรายดังกล่าวนั้น ขอแนะนำให้ผู้ที่ถูกยืมเงินควรโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลกลับไปสอบถามก่อนว่าใช่เจ้าตัวจริงหรือไม่ หากมิจฉาชีพอ้างว่าติดประชุมหรือธุระสำคัญอยู่ก็ควรรอให้เสร็จธุระ หรือขอให้เขาโทรกลับมาก่อน คงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบโอนเงิน
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ จึงขอฝากเตือนภัยประชาชนให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่คนร้ายมักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ รวม 17 รูปแบบ ดังนี้
1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า
2.หลอกให้ทำงานออนไลน์
3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ
4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน
5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center)
6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า (เป็นขบวนการ)
7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา
8.หลอกให้รักแล้วลงทุน
9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน
10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน
11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล
12.แฮคระบบคอมพิวเตอร์
13.ล่วงละเมิดทางเพศ
14.ข่าวปลอม (fake news)
15.แชร์ลูกโซ่
16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomeware)
17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ
รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในกรณีดังกล่าวจึงได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เร่งหาแนวทางป้องกันอย่างจริงจัง จึงอยากให้ประชาชนมีสติคิดก่อนจะทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงินให้ใคร หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 หรือผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th