นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนกำลังเร่งขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทุกจังหวัด ซึ่งเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ครอบคลุมลึกลงไปใน70,000 หมู่บ้าน 7 พันตำบล 878 อำเภอ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ด้วยแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
โดยเมื่อเดือน พ.ย.64 ตนได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด และคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน หนี้สิน และความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ได้สั่งการให้เร่งจัดตั้งกลไกพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลหมู่บ้านให้เสร็จโดยเร็ว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล คาดว่าจะดำเนินการได้ครบ 7,435 ตำบลภายในเดือน ส.ค.65
ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีโครงสร้างและระบบการพัฒนาภาคเกษตรที่หยั่งลึกลงถึงตำบลหมู่บ้านชุมชนใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานครเพื่อดึงพลังมวลชนออกมารวมแก้ไขปัญหาในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาสู่อนาคตที่ดีขึ้น ซึ่งมีปลัดอำเภอ เกษตรตำบล อบต.และอาสาสมัครเกษตร (อกษ.) เป็นแกนหลักร่วมกับตัวแทนภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านตำบลเชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในแต่ละจังหวัด
โดยคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลมีหน้าที่จัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแบบยั่งยืนภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ เช่น โครงการพัฒนาระบบชลประทานชุมชน โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โครงการศูนย์บริการจัดการดิน-ปุ๋ยชุมชน โครงการร้านค้าสีเขียว (Green Shop) แบบออนไลน์และออฟไลน์ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง โครงการศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) โครงการเศรษฐกิจพอเพียงพืช-ประมง-ปศุสัตว์ โครงการช่างเกษตร โครงการเกษตรพลังงาน โครงการเกษตรสุขภาพและโครงการเกษตรท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อปักหลักวางหมุดหมายการพัฒนาแบบยั่งยืนลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ รมว.เกษตรฯ ได้แก่ ตลาดนำการผลิต-เทคโนโลยีเกษตร4.0-เกษตรปลอดภัย-เกษตรยั่งยืน-เกษตรมั่นคง การบูรณาการทำงานเชิงรุกทุกภาคส่วนและเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)