นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในบางประเทศแถบเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย แนวโน้มพบผู้ป่วย ผู้ป่วยกำลังรักษา ในสัปดาห์นี้ใกล้เคียงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งกลุ่มที่อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองได้หลังรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เช่น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ในกทม. และปริมณฑล พบอัตราครองเตียงระดับ 2-3 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น และเริ่มพบสัญญาณจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดท่องเที่ยว จึงต้องเน้นเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค ช่วงหลังวันหยุดยาว โดยเฉพาะจุดเสี่ยงสำคัญต่อการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน วัด ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งโรงพยาบาล และสถานประกอบการ
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับประชาชน และผู้ประกอบการ ให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล "2U" โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์หลังวันหยุดยาว คือ Universal Prevention ขณะร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่ปิด (D: Distancing, M: Facemask, H: Hand washing, T: ATK test เมื่อมีอาการป่วย) โดยกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 ต้องเร่งรับการฉีดวัคซีนในทุกเข็มตามมาตรการ Universal Vaccination เพื่อช่วยลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต หากพบการติดเชื้อโควิด-19
ส่วนหน่วยงาน สถานประกอบการ พิจารณาให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่แสดงอาการหรือมีอาการป่วยเล็กน้อย ให้แยกกักตัวที่บ้าน 7 วัน และหลังจากนั้นกลับมาทำงานได้ โดยช่วง 3 วันแรก ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา งดร่วมรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และเลี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก หรือ "ทำงานที่บ้าน (WFH) 7 + 3 วัน" ในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก
"สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ผู้ป่วยเริ่มมีสัญญาณอาการป่วยรุนแรงขึ้น ให้รีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับยาต้านไวรัสให้ทันเวลา และลดการเสียชีวิต สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ แม้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Long Acting Antibody (LAAB)" นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับแนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประเทศไทย จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ UHosNet วันที่ 1 ก.ค. 65 ได้มีปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากเดิม 60 ล้านโดส ให้เหลือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 35.4 ล้านโดส และเปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส โดยคาดว่าจะได้รับมอบ LAAB ในลอตแรก ในวันที่ 25 ก.ค. 65 จำนวน 7,000 โดส โดยส่วนที่เหลือจะทยอยได้รับมอบภายในปี 65
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลทั่วไปของ LAAB ใช้ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปี และมีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง ใช้เป็นการป้องกันก่อนสัมผัสโรคโควิด-19 (Pre-exposure prophylaxis) ผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือไม่ได้เป็นผู้ที่เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ด้วยความจำเป็นบางประการ (แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน)
ด้าน นายชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อการรักษาชีวิตคนในประเทศไทย พบว่า วัคซีนโควิดทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทยช่วยรักษาชีวิตคนในระหว่างวันที่ 8 ธ.ค. 63-8 ธ.ค. 64 ไว้ได้ประมาณ 382,600 คน หลังจากวันที่ 8 ธ.ค. 64 เป็นต้นมา วัคซีนโควิดสามารถช่วยรักษาชีวิตคนไทยจากโควิด-19 ไว้ได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 107,400 คน
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 3 ก.ค. 65 วัคซีนโควิดสามารถช่วยรักษาชีวิตคนในประเทศไทย ไม่ให้เสียชีวิตจากการติดโควิด ไว้ได้แล้วประมาณ 490,000 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดโควิด-19 เฉลี่ยเท่ากับ 1.15%
"การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เพราะจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ แนะนำให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากเข็มล่าสุดแล้ว 4 เดือน" นายชรินทร์ กล่าว