นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ว่า ผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการและได้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ และโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง และกรมวิทย์ฯ ได้รับตัวอย่างส่งต่อเพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 กรมวิทย์ฯ จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65
สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนม.ค. 65 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. 65)
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด-19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) จัด BA.2.75 ให้อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรง ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป
"กรมวิทย์ฯ และกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ และขอเน้นย้ำการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ" นพ.ศุภกิจ กล่าว