นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านระบบควบคุมทางศุลกาการ ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า แม้ว่า กัญชา กัญชง จะไม่เป็นยาเสพติด ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศให้กัญชา กัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ว่า หากมีการนำเข้า ผู้นำเข้าจะต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงประกาศของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ออกประกาศควบคุมนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา และควบคุมป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มงวด
ที่ผ่านมา พบว่ายังมีการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา และต้นกล้ากัญชาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดนไทย ซึ่งหากนำเข้ามาโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร หรือนำเข้ามาโดยผ่านพิธีการศุลกากร แต่ไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเข้าอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 กล่าวคือ
กรณีแรก หากเป็นการนำเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ถือเป็นความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 242 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 เท่าของราคาของรวมอากร
กรณีที่สอง หากนำเข้ามาโดยผ่านช่องทางศุลกากร แม้ปัจจุบันกัญชาจะถูกปลดจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 แล้ว แต่การนำเข้ายังต้องคำนึงถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
ดังนั้น กัญชายังถือเป็นสินค้าควบคุมการนำเข้า ซึ่งหากไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือได้รับอนุญาตก่อนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย อาจเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อกำกัด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 244 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาท)
สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะนำเข้ากัญชา จะต้องผ่านพิธีการศุลกากรและปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากลักลอบนำเข้า หรือนำเข้ามาโดยผ่านพิธีการศุลกากร แต่ไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ และหากนำกัญชาออกนอกประเทศซึ่งประเทศเหล่านั้นยังกำหนดให้กัญชายังเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย อาจมีโทษทั้งจำทั้งปรับ หรือโทษสูงสุดคือประหารชีวิต จึงขอให้ศึกษากฎหมายของต่างประเทศให้ดีก่อนจะนำติดตัวออกหรือส่งออกไปต่างประเทศ