นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) รายแรกของประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ต ได้ทำการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและควบคุมโรค พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เป็นเพื่อนกับผู้ป่วย ไม่มีอาการป่วย โดยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการติดเชื้อฝีดาษลิง และอยู่ระหว่างการสังเกตอาการตนเอง 21 วัน
นอกจากนี้ จากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมจากสถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยเคยไปใช้บริการ รวม 142 คน พบผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ จำนวน 6 ราย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4 ราย ไม่พบการติดเชื้อฝีดาษลิง และให้ติดตามสังเกตอาการตนเอง 21 วัน
ขณะเดียวกัน ยังได้มีการค้นหาผู้สัมผัสในโรงแรม และสถานบันเทิงแห่งอื่นเพิ่มเติม รวมทั้งการกำจัดเชื้อในห้องพักในคอนโดที่พักของผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับสถานบันเทิง และผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ดี ได้รายงานเรื่องที่ไทยพบโรคฝีดาษลิงให้องค์การอนามัยโลก (WHO) รับทราบแล้ว
จากรายละเอียดข้อมูลการระบาดวิทยา ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ WHO ยังไม่ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เนื่องจากโรคนี้ยังมีความรุนแรงไม่มากนัก และยังไม่ได้แพร่ระบาดเร็วมาก
"เน้นย้ำว่าโรคฝีดาษลิง ลักษณะไม่ได้มีความรุนแรงของโรคสูงมากนัก เบื้องต้นที่ตรวจผู้ป่วยรายนี้พบว่าคือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (West African) ที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่ 1% หรือไม่รุนแรง โรคนี้ติดต่อจากสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่ายๆ มาตรการที่ใช้กับโรคโควิดสามารถนำมาใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน คือ Universal Prevention เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีตุ่มน้ำใสตามตัว" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันจะรักษาโรคฝีดาษลิงตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ขณะนี้เบื้องต้นกรมควบคุมโรคได้สั่งจองวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงไปแล้ว ส่วนวัคซีนที่มีในประเทศ คือ วัคซีนฝีดาษ ซึ่งได้เตรียมพร้อมเพื่อนำมาใช้แล้ว
อย่างไรก็ดี การจะใช้วัคซีน ต้องดูประสิทธิภาพของการป้องกันโรค ผลข้างเคียง และความต้องการ ดังนั้น อาจต้องมีการฉีดวัคซีนในเจ้าหน้าที่ในห้องแล็ป และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย แต่จากสถานการณ์ในตอนนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนในวงกว้างให้ประชาชนทุกคน