น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่างแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศไทยในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านกฎหมาย รวมทั้งยังสามารถยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ อีกทั้งแนวโน้มการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศก็มีการขยายตัวอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการแข่งขันของประเทศ สู่การเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570 โดยมีวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วน และเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในปี พ.ศ. 2570"
สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนและดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1) การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมายและกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3) การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
4) การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
5) การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน
เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามร่างแผนปฏิบัติการฯ ในปี พ.ศ. 2570 จะทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศ เช่น มีมูลค่าที่เกิดจากการจ้างงานและสร้างอาชีพในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีจำนวนทรัพยากรบุคคลที่สามารถปรับทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับอาชีพและการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ รวมทั้งประชาชนในประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม