นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ช่วงวันที่ 29-31 ก.ค.65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ตนจึงได้กำชับให้โครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
ปัจจุบัน (28 ก.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 43,044 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,041 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,494 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,377 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา (28 ก.ค.65) เวลา 06.00 น.ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,154 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.61 เมตร มีแนวโน้มลดลง และควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 1,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนที่อยู่บริเวณนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และชุมชนแม่น้ำน้อย (ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร
"กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายประพิศ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา