นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าของการจัดหาวัคซีนโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ว่า ขณะนี้ได้ติดต่อองค์การเภสัชกรรมให้ประสานในการนำเข้าวัคซีนฝีดาษคน รุ่นที่ 3 หรือรุ่นล่าสุด ที่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วย โดยคาดว่าอย่างช้าในช่วงครึ่งเดือนหลังของ ส.ค. นี้ จะได้รับวัคซีน สำหรับข้อดีของวัคซีนรุ่นนี้คือ ฉีดง่ายกว่าวัคซีนรุ่นเก่า และผลข้างเคียงน้อยกว่า จึงเป็นวัคซีนที่มีความเหมาะสมที่จะเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย และไม่ได้รุนแรง ดังนั้น จะมีความแตกต่างกับวัคซีนโควิด-19 คือ ประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มที่มีความเหมาะสม เนื่องจากการจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้าง ต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัย คือ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงของวัคซีน สถานการณ์การระบาดของโรค และความเป็นไปได้ในการจัดบริการ
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนฝีดาษคน หากพบกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคฝีดาษลิง จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงได้ประมาณ 80% อย่างไรก็ดี เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ป่วยฝีดาษลิง รายใหม่เพิ่มขึ้น (เฉลี่ย 500 รายต่อวัน) ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Western African โดยหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐ ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และเริ่มฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง และกว่า 70 ประเทศ สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศแล้ว (imported case) ขณะที่พบผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงแล้ว 2 ราย โดยยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมมีประวัติเชื่อมโยงของทั้งสองราย พบผู้ป่วยสงสัย 35 ราย ซึ่งทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ส่วนใหญ่รับบริการในสถานพยาบาลเอกชน
"ผู้ป่วยที่พบทั้ง 2 รายมีประวัติเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ หรือมีเพศสัมพันธ์ ในส่วนของประชาชนทั่วไปไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย และความรุนแรงของโรคไม่มากนัก การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปความเสี่ยงเข้าใกล้ 0% ดังนั้น ไม่ต้องพึ่งวัคซีนจะดีกว่า เพราะผลข้างเคียงจากวัคซีนมีมากพอสมควร ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดที่มีชุมชนชาวต่างชาติ จากประเทศแถบยุโรป และแอฟริกา รวมทั้งสถานบันเทิงรองรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ต้องเร่งจัดให้มีระบบตรวจคัดกรองและการรายงานโรคฝีดาษลิงในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่ง รวมทั้งคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกแห่ง ตามแนวทางฯ และเร่งประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้กับผู้ให้บริการทางเพศ และกลุ่มเสี่ยงในการป้องกันโรค สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้มาก
"ให้เน้น "MKP : Monkeypox" คือ M : Self Monitoring มีอาการไข้ และมีผื่นตุ่มตามมา รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา, K : Keep distance เว้นให้ห่างจากผู้ป่วย ไม่สัมผัสหรือทำกิจกรรมใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ป่วย และ P : Protect yourself ไม่ไปร่วม หรือมีกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น unsafe sex party" นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ อีโอซี มีแนวทางวินิจฉัยดูแลรักษาโรคฝีดาษลิง คือ ณ จุดคัดกรอง ห้องฉุกเฉิน/ แผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการไข้ มีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ให้เป็นผู้ป่วยสงสัย (Suspected case) หากมีอาการเกณฑ์เข้าได้กับทางคลินิกของกองระบาดวิทยา หรือแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นฝีดาษลิง ร่วมกับมีประวัติเดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยสงสัย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคติดเชื้อ (ตามคำนิยามของกรมควบคุมโรค) ให้รับไว้เป็นผู้ป่วยใน (อยู่ห้องแยกเดี่ยว ที่มีห้องน้ำในตัว)
ทั้งนี้ ระหว่างรอผลตรวจ ให้เก็บตัวอย่างตามคำแนะนำของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองที่เหมาะสม (PPE) พิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป และทำการแจ้งพยาบาล ICN เจ้าหน้าที่ระบาด เพื่อสอบสวนหาผู้สัมผัส
พญ.นฤมล กล่าวว่า หลังทราบผลการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิง หากไม่พบเชื้อ (2 ห้องปฏิบัติการ) จำหน่ายหรือให้การรักษา และแยกโรคตามสาเหตุของโรค โดยให้ผู้ป่วยสังเกตอาการของตนเอง 21 วัน และถ้ามีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น ให้ไปพบแพทย์
ส่วนกรณีตรวจพบเชื้อ ให้แอดมิทในโรงพยาบาลทุกราย และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ โดยแบ่งเป็น 1. การรักษาแบบประคับประคอง (Supportinve Treatment) โดยให้การรักษาตามอาการ รวมถึงการทำความสะอาด ตุ่มแผล และอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง รวมทั้งเรื่องภาวะจิตใจของผู้ป่วย และ 2. การรักษาจำเพาะ (Specific Treatment) คือ ยังไม่มียาต้านไวรัส (อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยในต่างประเทศ) ระยะเวลากักตัว 14-21 วัน จนสะเก็ดแผลแห้ง
สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรครุนแรง คือ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ, ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี, ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง (Autoimmune diseases) ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, เด็ก (โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 8 ปี), หญิงตั้งครรภ์ หรือระหว่างให้นมบุตร และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) หรือกำลังมีโรคผิวหนังชนิดผื่นแดงหลุดลอกเป็นขุย (Exfoliative) อยู่