นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (ฝีดาษวานร) ในประเทศไทย โดยยืนยันว่าขณะนี้ในประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งหมด 4 ราย ส่วนนักท่องเที่ยวชายชาวฝรั่งเศส อายุ 32 ปี ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกเอกชนจังหวัดตราด หลังจากมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ และมือนั้น ผลพิสูจน์ออกมาแล้วว่าไม่ได้เป็นโรคฝีดาษลิง และจากการติดตามผู้ใกล้ชิด ไม่มีใครติดเชื้อ
ส่วนมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงให้กับประชาชนนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ระยะฟักตัวของโรคฝีดาษลิงใช้เวลานาน การฉีดวัคซีนไม่จำเป็นต้องฉีดแบบโควิด ซึ่งเรื่องนี้มีการวางหลักการไว้แล้ว และจากที่ได้รับรายงานคือ จะมีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับการฉีดวัคซีน และฉีดเฉพาะผู้มีประวัติสัมผัส หรือผู้ติดเชื้อแล้วก็สามารถฉีดได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีนักท่องเที่ยวชายสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 32 ปี เดินทางมาเที่ยวจังหวัดตราดเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และมีอาการผิดปกติระบบทางเดินปัสสาวะ มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ จึงไปพบแพทย์จนอาการดังกล่าวหาย ต่อมาพบตุ่มขึ้นที่มือ จึงเดินทางเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลตราด จากนั้นโรงพยาบาลตราดได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันไม่พบเชื้อฝีดาษวานร
สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ยังพบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์ป่วยเป็นผู้ป่วยสงสัย 36 ราย ผู้สัมผัส 44 ราย ครบการกักตัวแล้วทั้งหมด 7 ราย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 35 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร รอผล 1 ราย
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 28,792 ราย เสียชีวิต 6 ราย (สเปน 2 ราย บราซิล เปรู กานา อินเดีย ประเทศละ 1 ราย) ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วม ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับ แรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,510 ราย สเปน 5,208 ราย เยอรมัน 2,887 ราย อังกฤษ 2,768 ราย และฝรั่งเศส 2,423 ราย
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ที่มีอาการตุ่มฝีตุ่มหนองขึ้นตามอวัยวะต่างของร่างกาย ให้รีบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหากผลเป็นบวก ติดเชื้อ จะรีบเข้าไปควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อทันที
"ขอเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางวิธีการป้องกันตัวจากโรคฝีดาษลิง ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หรือสัตว์ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก และรับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด หากประชาชนมีความเสี่ยง มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่พบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในพื้นที่จังหวัดตราด เป็นรายต้องสงสัยว่าติดเชื้อฝีดาษลิงนั้น เนื่องจากรายนี้มีอาการไข้มาก่อนเป็นเดือน และเริ่มมีแผลจึงส่งผลตรวจ เบื้องต้นจากการตรวจเชื้อจากบริเวณคอ และตัวอย่างเลือด ผลเป็นลบ ส่วนผลตรวจจากแผล เนื่องจากตัวอย่างครั้งแรกยังไม่สมบูรณ์ ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างมาตรวจเพิ่ม ในส่วนของรายนี้ อาจจะเป็นโรคฝีดาษลิงหรือไม่เป็นก็ได้ แต่เนื่องจากมาตรวจเชื้อค่อนข้างช้า จึงอาจตรวจไม่พบเชื้อ ดังนั้น ขอตรวจสอบยืนยันอีกครั้ง โดยได้มีการส่งตัวอย่างบางส่วนไปตรวจแบบละเอียด (Whole genome sequencing) แล้ว
ทั้งนี้ จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง จำนวน 4 ราย ที่พบในประเทศไทยและได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม พบว่า เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 3 ราย และสายพันธุ์ B.1 จำนวน 1 ราย โดยทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีอาการไม่รุนแรง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมวิทย์ฯ สามารถเพาะเชื้อฝีดาษลิงจนได้จำนวนไวรัสมากพอที่จะทำการทดสอบกับผู้ที่เคยปลูกฝีโรคฝีดาษคนในอดีตมาแล้ว เพื่อทดสอบภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงว่าสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 80% จริงหรือไม่
"ศูนย์วิทย์ฯ ทุกแห่งทั่วประเทศสามารถตรวจหาฝีดาษลิงได้แล้ว ย้ำว่าประชาชนทุกคนไม่มีความจำเป็นต้องมาตรวจหาเชื้อ เนื่องจากราคาตรวจยังสูง ซึ่งกำลังประชุมเพื่อหาต้นทุนการตรวจที่แท้จริง เพื่อลดราคาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด อย่างไรก็ดี ขอประชาชนอย่าวิตกมากเกินไป ทั้ง 4 รายที่พบติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย มีวิธีการติดที่ชัดเจนคือนัวเนีย ดังนั้น ถ้าไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงโอกาสติดน้อยมาก ไม่ได้กินข้าวแล้วติด" นพ.ศุภกิจ กล่าว