นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินงานของสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองว่า ผังเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนคิดว่าเป็นปัญหาของเมือง เช่น เรื่องน้ำท่วม และการจราจร แต่การปรับผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนในหลายด้าน เช่น ผังเมืองกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นรูปผังสี มีสีแดง สีส้ม สีน้ำตาล สีเหลือง แบ่งการใช้งานตามประเภทสี เช่น สีแดงเป็นพาณิชย์ สีม่วงเป็นอุตสาหกรรม สีส้มเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ถ้าดูผังสีแบบเร็ว จะเหมือนเป็นผังที่กำหนดราคาที่ดิน และกำหนดว่าในแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้มากเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่าควรจะสร้างอะไร กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในผังสีนี้ต้องการจะสร้างในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนสูงที่สุด ทำให้รูปแบบของเมืองพัฒนาในรูปแบบความต้องการราคา และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด
"นี่เป็นอันหนึ่ง ที่อาจจะต้องพยายามต่อไปในอนาคต ว่าผังเมืองควรจะกำหนดโจทย์ทิศทางของเมือง มากกว่าจะกำหนดว่าสร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่ ดังนั้นอาจจะต้องมีแนวคิดใหม่" นายชัชชาติ กล่าว
พร้อมระบุว่า ด้านการเปิดเผยข้อมูลผังเมืองก็มีความสำคัญเช่นกัน หากข้อมูลสามารถเปิดเผยให้เอกชนไปใช้พัฒนาได้ หรือนำไปขยายประโยชน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหลายหน่วยงานในการขอเปิดเผย เนื่องจากบางส่วนเป็นเรื่องด้านความมั่นคง เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แต่หลักการคือพยายามให้เปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปัจจุบันฐานข้อมูลยังไม่ครบ ขาดอีก 1,112,000 แปลง ประมาณกว่า 50% อาจจะเป็นแปลงย่อยที่มีมูลค่าภาษีไม่มาก ส่วนแปลงใหญ่ๆ ที่เคยจ่ายภาษีโรงเรือนน่าจะเข้าระบบทั้งหมดแล้ว อาจเหลือแปลงย่อยที่ต้องพัฒนาข้อมูล ซึ่งต้องเร่งรัดและหารือร่วมกับสำนักการคลัง เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือน
สำหรับตัวผังเมืองใหม่ดำเนินการประชาพิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว อาจต้องดำเนินการใหม่ตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป เนื่องจากต้องแนบผังแนบท้ายเพิ่มเติม คงต้องเริ่มใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวผังเมืองและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีขึ้น และถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับผังเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ฉบับนี้ คงต้องทบทวนยกเลิก หรือปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น หัวใจคือกำหนดทิศทางของเมืองให้เกิดการพัฒนา และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและสูงสุด
พร้อมกันนี้ได้หารือถึงการสร้างเมืองใหม่ที่อยู่รอบนอก เช่น อาจจะหาพื้นที่บริเวณลาดกระบัง ร่มเกล้า หรือบางขุนเทียน และลองคิดสร้างเมืองในอุดมคติสักเมือง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยราชการที่มีพื้นที่อยู่ เช่น การเคหะแห่งชาติ มีที่ว่างหลายร้อยไร่อยู่ในพื้นที่ แล้วทำการพัฒนาเมืองใหม่ที่ไม่ใช่มีแค่ที่อยู่อาศัย มีสำนักงาน มีโรงเรียน มีสวนสาธารณะ การคมนาคม โรงพยาบาล โดยให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองไปหารือร่วมกัน เพื่อออกแบบผังเมืองให้สามารถพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตัวเอง
"จะช่วยลดการเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อาจจะเป็นแนวคิดในพื้นที่บางแปลงที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มพิจารณาตรงนี้" ผู้ว่า กทม.ระบุ