นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ โฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ปี 65 ของคณะประเมินสถานการณ์น้ำ ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่า กอนช. ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักสะสมในช่วง 3 วันนี้ (16-18 ส.ค. 65) จำนวน 5 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ ได้แก่ จ.ตาก (อ.แม่สอด) จ.แม่ฮ่องสอน (อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย และ อ.ขุนยวม), ภาคตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ), ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี (อ.มะขาม) และภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร
สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน จ.พะเยา และ จ.เชียงราย รวมทั้งยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำโขง ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ และ จ.นครพนม
ทั้งนี้ กอนช. จะพิจารณาแนวทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้า ลงถึงระดับจังหวัดผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้วางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนรับทราบล่วงหน้าด้วย
ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 10 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด (URC) แล้ว ได้แก่ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่, อ่างฯ กิ่วลม และอ่างฯ กิ่วคอหมา จ.ลำปาง, อ่างฯ แควน้อย จ.พิษณุโลก, บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์, อ่างฯ อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, อ่างฯ น้ำพุง จ.สกลนคร, อ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี, อ่างฯ บางพระ จ.ชลบุรี และอ่างฯ หนองปลาไหล จ.ระยอง
ทั้งนี้ เน้นย้ำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำด้วย เนื่องจากฝนที่ตกสะสมทำให้ดินอุ้มน้ำไว้นาน อาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้
นอกจากนี้ ได้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตามเนวร่องฝน และที่มีแนวโน้มจะมีพายุเข้าในช่วงเดือนก.ย. ต่อเนื่องเดือนต.ค. นี้ ซึ่งพายุดังกล่าวจะเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบน โดยคาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน สทนช. ได้ประสานให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมถึงความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนทั้งในส่วนที่อยู่ในความดูแลและที่ถ่ายโอนไปแล้ว รายงานกลับมายัง สทนช. ภายในวันศุกร์นี้ (19 ส.ค. 65) เพื่อติดตามและวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม ป้องกันกรณีน้ำล้นหรือเขื่อนชำรุดเสียหายได้ล่วงหน้าด้วย