นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) กล่าวก่อนการประชุมว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้จะพิจารณาประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ พร้อมทั้งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร และกลับมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ รวมถึงยุบหน่วยงาน ศบค. ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้นแล้ว
"1 ต.ค. นี้ โควิด-19 จะเป็นโรคเฝ้าระวัง และยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งการจะเป็นโรคประจำถิ่นต้องใช้เวลาอีกซักระยะ ขณะเดียวกันหน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็น"นพ.อุดม ระบุ
นอกจากนั้น วาระการประชุม ศบค.ยังมีเรื่องที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเสนอการขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19, ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เดือน ก.ย.65, ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จะรายงานเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข จะรายงานสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาด ความคืบหน้าในการจัดทำนโยบาย แนวทางปฏิบัติเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะหลังพ้นการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด-19, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะรายงานความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆ จะรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมวันนี้ด้วย
นพ.อุดม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั้งในและนอกระบบจำนวน 6-7 หมื่นคน ซึ่งอาการไม่รุนแรง และคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะอยู่อีกประมาณ 1 เดือน และจะลดลงในช่วงเดือน ต.ค. และคาดว่าผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลจะต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 10 คน ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไม่มีทางลดลงจนเป็นศูนย์ ดังนั้น ทุกคนต้องดูแลสุขภาพตัวเองตามมาตรการด้านสาธารณสุข โดยในวันนี้จะเสนอแนวทางปฏิบัติในการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะหลังพ้นการระบาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการทางการแพทย์อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าการพบแพทย์และได้รับยาค่อนข้างยาก
"ขออย่ากังวลเรื่องยา เพราะมีการกระจายยาไปอย่างทั่วถึงแล้ว แต่ที่มีปัญหาว่าไม่ได้รับยานั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ และในวันที่ 1 ก.ย. นี้ จะเปิดให้ผู้ป่วยสามารถรับยาได้ที่ร้านขายยา ที่อยู่ในเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเป็นการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์"นพ.อุดม กล่าว
ขณะเดียวกัน บริการด้านสาธารณสุขยังสามารถใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น Clicknic ซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งผู้ป่วยสีเขียวและกลุ่มผู้ป่วย 608 ส่วนแอปฯ MorDee จะรับเฉพาะผู้ป่วยสีเขียว และ แอป Good doctor จะรับผู้ป่วยในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งทั้ง 3 แอปพลิเคชั่น จะได้พบแพทย์ และบริการส่งยาถึงบ้าน ทำให้ผู้ป่วยสะดวกมากขึ้นไม่ต้องเดินทางมาเอง
ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น นพ.อุดม กล่าวว่า อยากให้ทุกคนเข้ารับวัคซีน เพราะสามารถช่วยให้อาการป่วยไม่รุนแรง และจะไม่มีอาการ Long Covid-19 ซึ่งอาการดังกล่าวทำให้เกิดผลเสียทางด้านสุขภาพ รวมไปถึงทางด้านเศรษฐกิจ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ในวันนี้จะมีการลดระดับจากโรคติดต่อร้ายแรงลงสู่โรคติดต่อที่เฝ้าระวัง หากจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ทุกอย่าง ซึ่งหาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขที่อยู่ในขั้นตอนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณา หากยังไม่แล้วเสร็จก็จะต้องใช้กฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่
ทั้งนี้ เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วจะต้องมีการยุบ ศบค. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลในการดูแล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ จึงต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น
เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันมีทั้งวัคซีนและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งอัตราการเข้ารับการรักษาและเสียชีวิตลดลงเพียง 0.2% ก็เข้าข่ายเหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป ที่ถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ ดังนั้นทุกอย่างจะผ่อนคลายลงก็ต้องมีการเปิดมาตรการต่างๆให้เสรีมากขึ้น และลดระดับมาอยู่ที่การเฝ้าระวังและทำความเข้าใจและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ป้องกันตนเองจากโรคระบาด