(เพิ่มเติม1) ศบค.เผยยังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มระลอกเล็ก แต่ผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตลดลง

ข่าวทั่วไป Thursday September 1, 2022 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 2,004 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,996 ราย
  • ผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 7 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย
  • เสียชีวิต 25 ราย เป็นเพศชาย 13 ราย เพศหญิง 12 ราย สัญชาติไทยทั้งหมด อายุเฉลี่ย 80 ปี (อายุระหว่าง 58-101 ปี) แยกเป็น ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย คิดเป็น 96% และผู้มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 1 ราย คิดเป็น 4%

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 4,652,923 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหาย 1,743 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 32,328 ราย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 608,022,534 ราย เสียชีวิต 6,495,890 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 96,347,971 ราย อันดับ 2 อินเดีย 44,435,215 ราย อันดับ 3 ฝรั่งเศส 34,529,201 ราย อันดับ 4 บราซิล 34,472,679 ราย และอันดับ 5 เยอรมนี 32,184,553 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 29

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวนการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงตัว ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในไทย ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ เช่นเดียวกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่แนวโน้มผู้ป่วยหนัก หรือผู้เสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการครองเตียง สีเหลือง สีแดง และปริมาณการใช้ยาต่อวันลดลง และยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือในเข้ารับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

ส่วนความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง ก่อน 5 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง คาดว่าจะเข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 4/65 หรือปลายปีนี้

ทั้งนี้ คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน ของกรมควบคุมโรค ได้มีการเก็บข้อมูล เพื่อดูประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงในประเทศไทย ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 พบว่า ถ้าฉีด 2 เข็ม ป้องกันปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 60%, ป้องกันการเสียชีวิตได้ 72% ถ้าฉีด 3 เข็ม ป้องกันปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 83% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 93% แต่ถ้าฉีด 4 เข็ม ป้องกันปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%

พญ.สุมนี เน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ช่วยลดอาการหนัก และการเสียชีวิต และหากฉีดเกิน 6 เดือนไปแล้วก็สามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้

พร้อมย้ำว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้เช่นเดิม


แท็ก เรือนจำ   ศบค.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ