นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบจำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การจำแนกประเภทที่ดินตามผลการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 1) พื้นที่ป่าไม้ 2) พื้นที่ป่าชายเลน 3) พื้นที่เกษตรกรรม และ 4) พื้นที่ชุมชน
2.เห็นชอบการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ถาวร และให้กรมป่าไม้ดำเนินการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ถาวร โดยพิจารณาถึงพื้นที่ป่าไม้ถาวรที่ได้จำแนกไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ของกรมพัฒนาที่ดิน และจัดทำกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ถาวร เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และเห็นชอบการเสนอเรื่องขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 เรื่อง มาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเรื่องที่ราษฎรร้องเรียนให้เพิกถอนเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดได้รับเรื่องไว้แล้ว รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จ จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติยกเลิกหรือมีข้อสั่งการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินพิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป
3.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ.2566-2580) ด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ. ประวิตร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยมี พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ซึ่งมี 21 หน่วยงาน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2) กลุ่มหน่วยงานพัฒนา ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงชนบท กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง และกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมแสดงเจตจำนงในการผนึกกำลังกันบูรณาการพัฒนาพื้นที่ คทช. โดยการสนับสนุนจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมโดยมิให้กรรมสิทธิ์แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นกลุ่มหรือชุมชน เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการขาดที่ดินทำกิน โดยให้ประชาชนผู้ยากไร้ ได้มีสิทธิทำกิน และอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ป้องกันการเปลี่ยนมือ และการเข้ามาครอบครองของนายทุน รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน และตกทอดไปถึงลูกหลานได้
พร้อมได้เน้นย้ำให้หน่วยงานรัฐ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา เส้นทางคมนาคม และแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เพื่อให้สามารถลงหลักปักฐานต่อไปในระยะยาวได้ รวมทั้งให้มีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และต่อยอดไปสู่การจัดหาตลาด รวมถึงช่องทางการกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้อย่างเพียงพอและมั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ
พร้อมเน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง จังหวัด และระดับท้องถิ่นมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในการวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน และการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสอดคล้องเป็นระบบ อันจะทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือประชาชนให้สามารถอยู่ดีกินดีและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น