สมาคมฯ กระทุ้งรัฐปราบนำเข้าหมูเถื่อน ชี้ผู้เลี้ยงรายย่อยรอดยากหากไม่เร่งแก้

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2022 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมฯ กระทุ้งรัฐปราบนำเข้าหมูเถื่อน ชี้ผู้เลี้ยงรายย่อยรอดยากหากไม่เร่งแก้

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้จะมีการเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างจริงจัง ทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ แต่การปราบปรามและจับกุมยังไม่ดำเนินการอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการลักลอบนำเข้าไม่เกรงกลัว ทั้งยังมีการลักลอบนำเข้ามาในหลายรูปแบบ และมีการทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์ และขายหน้าร้าน โดยมีราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 135-145 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาในประเทศมาก

"หากภาครัฐปล่อยให้หมูลักลอบนำเข้าเพิ่มมากขึ้นทุกภาค และวางจำหน่ายกันอย่างเปิดเผย ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย คาดว่าภายในเวลา 18 เดือน ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กไม่รอดแน่ เพราะทุกคนมีภาระต้องกู้เงินมาฟื้นฟูกิจการ ถ้าต้องขายหมูขาดทุน จะไปต่อได้อย่างไร รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมั่นใจ" นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวว่า หลังกรมปศุสัตว์ประกาศพบโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 65 พร้อมแจงตัวเลขผลผลิตแม่หมูหายไปจากระบบ 50% ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับสูงขึ้นตามลำดับ โดยราคาหมูเนื้อแดงขยับขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 200 บาท จากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มที่กิโลกรัมละ 100 บาท

ดังนั้น ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพเห็นช่องทางฉวยโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างหมูนำเข้ามีต้นทุนต่ำกว่า และเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่บริโภค จึงส่งออกมายังไทยในราคาถูก แต่หมูชิ้นส่วน และเครื่องในที่นำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย ต้องผ่านการตรวจโรคและได้รับใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ ทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหลีกขั้นตอนดังกล่าว โดยการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลและสินค้าอื่นๆ แอบแฝงมาในตู้สินค้า

นายสุรชัย กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภาครัฐร่วมมือกันตรวจสต็อกห้องเย็นเกือบทุกวัน พบหมูผิดกฎหมายจำนวนมาก พอการปราบปรามทิ้งช่วง หมูเถื่อนก็กลับมาอีก ที่สำคัญหมูเถื่อนราคาถูก ทุบราคาหมูในประเทศ ล่อใจผู้บริโภคให้ซื้อเนื้อสัตว์ที่ราคาถูกกว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคควรรับทราบถึงผลร้ายที่จะตามมาจากการซื้อหมูลักลอบนำเข้าจากพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ว่าเนื้อหมูผิดกฎหมายเหล่านั้นเต็มไปด้วยสารเร่งเนื้อแดงที่ประเทศต้นทางยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อบริโภคมากก็สะสมมาก

"สมาคมฯ เป็นห่วงว่าหากหมูเถื่อนยังคงแพร่หลาย และกระจายอยู่ทั่วประเทศแบบนี้ จะกระทบกับผลผลิตหมูของไทยที่จะออกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ไม่มีตลาดให้กับหมูไทยแน่นอน ปัญหาหนักตกกับเกษตรกร คือของมี แต่ขายไม่ได้" นายสุรชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้กรมปศุสัตว์จะออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับกุมได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงอยากให้การปราบปรามมีความชัดเจนและต่อเนื่อง และหากเป็นไปได้ควรออกตรวจสอบห้องเย็นทุกวัน ซึ่งสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อปกป้องเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหา ASF ได้เริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ดังนั้น ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ต้องหยุดการลักลอบนำเข้าให้หมด ซึ่งเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรก็พยายามหาเบาะแสมาตลอด

ในส่วนของต้นทุนการผลิตสุกร ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี Supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงอยู่ที่ 98-101 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มก็ต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ