กทม. แจงปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนักรอบ 6 ปี ภาพรวมดีขึ้น เร่งแก้ระยะยาว

ข่าวทั่วไป Tuesday September 13, 2022 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ครั้งนี้ มาจากปริมาณน้ำฝนเกินกว่าปกติค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณน้ำเต็มในคลองแนวเหนือใต้ ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว จากคลองหกวาสายล่าง-แสนแสบ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมแถวบริเวณรามอินทรา หลักสี่ ดอนเมือง

ในส่วนคลองแนวตะวันออก-ตก คือ คลองประเวศบุรีรมย์ มีระดับน้ำสูงทำให้เขตลาดกระบังมีปัญหา โดยปกติจะระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งควบคุมโดยกรมชลประทาน การผันน้ำเข้า-ออกจะต้องดูบริบทโดยรอบ เช่น ฉะเชิงเทราอาจมีน้ำสูงอยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้าไม่ผันน้ำออกทางออกตะวันออก ก็ต้องเปลี่ยนเป็นทางตะวันตก โดยผ่านประตูระบายน้ำพระโขนง ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร ตอนนี้คลองประเวศฯ กำลังล้น ระดับน้ำสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 54 ซึ่งปีนั้นเป็นสถานการณ์น้ำเหนือ ลาดกระบังรับน้ำที่ปลายน้ำจึงไม่หนักมาก บริเวณที่มีน้ำมากจะเป็นแถวรังสิต ดอนเมือง สำหรับปีนี้ลาดกระบังต้องรับน้ำมากอีก รวมทั้งการระบายน้ำทำได้ยาก เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ดี เมื่อฝนอ่อนกำลังลง ทำให้สามารถระบายน้ำทางคลองลาดพร้าวได้ดีขึ้น ขณะนี้น้ำลดลง 50% ทำให้ที่วงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธินแห้งแล้วเป็นส่วนใหญ่ ด้านคลองเปรมประชากรน้ำลดลง 30% ซึ่งถ้าจัดการ 2 คลองหลักได้พื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ ปัญหาหลักคือ คลองประเวศบุรีรมย์ ระบายน้ำได้ช้า เนื่องจากมีระยะทางไกลกว่าที่น้ำจะมาถึงสถานีสูบน้ำพระโขนง ถ้าเปิดประตูน้ำเร็วไปจะมีผลกระทบกับพื้นที่พระโขนงและสะพานสูง จึงต้องค่อยๆ ทยอยดันน้ำและสูบออก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กทม. ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม มีเพียงพื้นที่ที่อยู่ใกล้คลอง ซึ่งมีข้อจำกัดทางกายภาพ ที่จะประสบปัญหาเมื่อมีถ้าฝนตกปริมาณมาก

นายชัชชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา ปริมาณฝนตกต่อวันในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนนี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-12 ก.ย. 65 มีจำนวนวันที่ฝนตกหนักเกิน 120 มิลลิเมตร มากถึง 10 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือนก.ย. 65 อยู่ที่ 96.5 มิลลิเมตร ส่วนค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือนก.ย. ในปีก่อน อยู่ที่ 52.2 มิลลิเมตร และเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 65 มีปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 112.7 มิลลิเมตร ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า กทม. มีการร่วมมือประสานงานกับทุกหน่วยงานตลอด ทั้งกรมชลประทาน กรมป้องกันสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการร่วมด้วย

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า กทม. ได้ทำงานกับกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย สทนช. ให้ข้อมูลว่าฝนและน้ำเหนืออาจจะมาเร็วกว่าเดิม จาก ต.ค. เป็นเดือน ก.ย. การประสานงานในส่วนของการดูระดับน้ำได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ กทม. ได้บริหารจัดการการเปิด-ปิดประตูน้ำลาดกระบังมาเป็นระยะๆ การเปิดน้ำ กทม. ยังกังวลในพื้นที่ 3 เขตว่า ถ้าเปิดมากเกินอาจจะกระทบกับสวนหลวง ประเวศ ซื้อเวลาโดยการเปิด-ปิดให้น้ำค่อยๆ ออกมา ในขณะเดียวกันมีการก่อกำแพงเพื่อรับน้ำที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น การจัดการข้ามพื้นที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่เช่นนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอื่นจะมากเกินไป หากกรมชลประทานพัดมวลน้ำไปทางไหนได้เร็วที่สุด กรมชลประทานก็จะช่วยพร่องน้ำให้ แล้วประสานกับจังหวัดเพื่อให้จังหวัดเตรียมรับมือ ซึ่งกรมชลประทานจะเห็นภาพรวมทั้งหมด

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือว่า ขณะนี้ยังไม่น่ากังวล ปัจจุบันน้ำที่ไหลผ่านบางไทร มีปริมาณเฉลี่ย 1,800 ลบ.ม/วินาที ซึ่งจุดเตือนภัยจะอยู่ที่ระดับ 2,500 ลบ.ม/วินาที มีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน และคณะกรรมการน้ำในการบริหารจัดการน้ำเหนืออย่างใกล้ชิด ปัญหาตอนนี้เกิดจากน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ คาดการณ์ระยะเวลาที่น้ำจากบางไทรถึงกรุงเทพฯ อย่างน้อย 12 ชั่วโมง

ที่ผ่านมา กทม. ได้เตรียมการล่วงหน้า ในการขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหล ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลัก จำนวน 32 คลอง เปิดทางน้ำไหล ระยะทาง 1,332 กม. ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย 3,358 กม. และได้ทำความสะอาดท่องระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว จะเห็นว่าที่ฝนตกมาน้ำไม่ได้มีการท่วมกระจาย จะมีเฉพาะจุดที่มีท่วมหนักจริงๆ ที่เกินกำลังความสามารถในการรับน้ำในคลอง

สำหรับมาตรการนอกเหนือจากมาตรการในเชิงโครงสร้าง ได้แก่ ลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ พร่องน้ำในคลอง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ กระสอบทราย แล้วยังได้ใช้มาตรการที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง ในการเตรียมเข้าสู่สถานการณ์ (Emergency Preparedness) ได้ฝึกส่วนการสื่อสารในภาวะวิกฤติไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่สื่อสารสาธารณะได้

นอกจากนี้ ได้สั่งจัดเตรียมทรัพยากรฉุกเฉินและจัดทำบัญชีเครื่องมือ ประสานขอรับการสนับสนุนส้วมกระดาษจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมการกำหนดจุดจัดตั้งศูนย์พักพิง การรับและจ่ายทรัพยากรช่วยเหลือ การส่งยาสามัญในภาวะน้ำท่วมลงพื้นที่ การให้บริการรถสูงประจำจุดเชื่อมการเดินทาง ส่งทีมช่างจากกองโรงงานช่างกลช่วยเหลือประชาชนที่ยานพาหนะมีปัญหาในบริเวณน้ำท่วมขัง

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งกำลังเดิมของคลองและท่อระบายน้ำที่มีอยู่ไม่พอ ต้องมีการวางแผน อุโมงค์อย่างเดียวตอบโจทย์ไม่ได้ เนื่องจากฝนตกหลายที่ไม่ได้ตกที่อุโมงค์ ดังนั้น การดันน้ำไปถึงอุโมงค์ ต้องมีระบบลำเลียงน้ำไปที่อุโมงค์ได้ ยกตัวอย่างอุโมงค์คลองแสนแสบ มีอุโมงค์ก็จริงแต่น้ำลาดพร้าวไม่สามารถไปถึงเพราะคลองไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการวางแผนในระยะกลางและระยะยาว ทำระบบน้ำให้ดี ซึ่งอาจจะแก้ไม่ได้ภายใน 1-2 เดือน

ดังนั้น งบประมาณที่แต่ก่อนไปทุ่มให้กับอุโมงค์จำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท อาจต้องแบ่งบางส่วนมาทำเขื่อน คู คลอง ให้เข้มแข็งขึ้น เช่น เครื่องสูบน้ำที่ประตูพระโขนง มีทั้งหมด 45 เครื่อง เป็นเครื่องเก่าทั้งหมด ระยะยาวอาจจะต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น กินน้ำน้อยลง จากปัจจุบันที่ใช้น้ำจุ่ม ซึ่งถ้าน้ำน้อยเครื่องจะน็อคเพราะต้องอาศัยน้ำ อย่างไรก็ดี ถ้าจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ต้องใช้เวลา มีการออกแบบ เปลี่ยนระบบ และอาจจะต้องรอจังหวะทำระบบชั่วคราว

นอกจากนี้ มีการทำพื้นที่ปิดล้อมย่อย (Sub-Folder) ในพื้นที่ใหญ่บริเวณพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง อย่างพื้นที่ด้านตะวันออกที่ขณะนี้อุโมงค์บึงหนองบอนยังไม่เสร็จต้องใช้ระยะเวลาหลายปี ระหว่างนี้ก็จะทำพื้นที่ปิดล้อมย่อย (Sub-Folder) ล้อมเพื่อให้ดูดน้ำให้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้การบริหารจัดการได้ดีขึ้น ส่วนคลองไหนที่รับได้ก็จะผันน้ำไปคลองนั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ