นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ในภาพรวมยังเป็นการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เป็นส่วนใหญ่ (93%) โดยจากการตรวจแบบละเอียด (Whole genome sequencing) ตั้งแต่เดือนพ.ค. พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ทั้งหมด 9 ราย โดยในจำนวนนี้พบสายพันธุ์ที่เป็นลูกหลานของ BA.2.75 ได้แก่ BA.2.75.1, BA.2.75.2 และ BA.2.75.3 อย่างละ 1 ราย
"การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โควิด เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องจับตาดูการกลายพันธุ์ที่มีความหมายว่าจะมีความรุนแรง หรือแพร่เร็วขึ้นหรือไม่" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ จากการดูตำแหน่งกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ BA.2.75 เป็น BA.2.75.2 มีความกังวลว่าสายพันธุ์ลูกนี้อาจมีความรุนแรง หรือแพร่เร็วขึ้น ซึ่งมีข้อมูลทางสถิติระบุว่า BA.2.75.2 พบเพิ่มขึ้น 114.17% อย่างไรก็ดี การที่มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมบางตำแหน่ง และข้อมูลทางสถิติ ยังไม่สามารถตอบคำถามในโลกความเป็นจริงได้ เนื่องจากมีสายพันธุ์หลายตัวที่เคยกังวลว่าจะเป็นปัญหา แต่ขณะนี้ได้หายไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องรอดูสถานการณ์จริงและเฝ้าระวังต่อไป
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า หลายประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบ BA.2.75 และ BA.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วน BA.4 มีสัดส่วนที่ลดลง และ BA.2.X ทรงตัว ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่พบ BA.5 ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น
ขณะที่ฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) พบรายงานจากทั่วโลกมีข้อมูลสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 6,811 ตัวอย่าง ปัจจุบัน GISAID ยังไม่มีการจัดกลุ่มย่อย BA.2.75.X
ในส่วนของสายพันธุ์ BJ.1 ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นหลักการเรียกชื่อที่แปลงมาจาก BA.2.10.1 เนื่องจากเมื่อมีการกลายพันธุ์ ก็จะมีการเพิ่มชื่อ ซึ่งจะยาวเกินไป
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ และส่งรายงานในระบบ GISAID อย่างสม่ำเสมอ และจับตาดูสายพันธุ์ที่อาจมีปัญหาอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ขอให้ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกจากข้อมูลเพียงบางส่วนในสื่อโซเชียล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ดี มาตรการที่ประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและ Universal Prevention ยังคงเพียงพอในการรับมือกับการแพร่ระบาดในปัจจุบัน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวถึงกรณีข้อกังวลเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยจำนวนมาก ว่า ตามปกติเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ เช่น อัลฟา เบตา เดลตา ล่าสุดคือโอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยๆ จำนวนมาก ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมจะมีโอกาสพบได้หากในพื้นที่มีการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์จำนวนมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ประเทศไทยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการในการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ประชาชนยังสามารถใช้มาตรการ 2U ในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ เนื่องจากรูปแบบการติดเชื้อของทุกสายพันธุ์ไม่ได้แตกต่างกัน คือ Universal Prevention การป้องกันตนเองอย่างเข้มงวด ทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และ Universal Vaccination การมารับวัคซีนตามกำหนด
"ขณะนี้ประชาชนฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว แม้เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ แต่ภูมิคุ้มกันที่มีจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ จึงควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น" นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขอย้ำว่า ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย โดยแพทย์จะวินิจฉัยจ่ายยาต้านไวรัสตามแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ และรัฐบาลยังดูแลค่าใช้จ่ายเมื่อไปรักษาตามสิทธิการรักษา
ส่วนการเปิดให้ประชาชนสามารถซื้อยาต้านไวรัสโควิดที่ร้านยาได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน โดยต้องใช้ใบสั่งยาของแพทย์ เนื่องจากยังเป็นยาที่อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้การรักษาเกิดความปลอดภัย ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศแถบยุโรป การซื้อยาฆ่าเชื้อต้องมีใบสั่งยาของแพทย์เช่นกัน