พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่เขตมีนบุรี และหนองจอก โดยจุดแรก พล.อ.ประวิตร เดินทางมายังประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนมีนบุรี โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมรายงานสถานการณ์น้ำ ซึ่งพบว่าก่อนการลงพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.รายงานว่า ปัญหาในกรุงเทพฯ ขณะนี้ คือมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากถึง 230 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายไปแล้ว 130 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการระบายน้ำฝั่งตะวันออก คือระบายลงคลองแสนแสบ เพื่อเข้าสู่ประตูน้ำพระโขนง หรือระบายลงผ่านคลองประเวศ แล้วตัดเข้ามาที่ประตูน้ำพระโขนงเช่นกัน ซึ่งการระบายน้ำกรุงเทพฝั่งตะวันออกทำได้ลำบาก เพราะไม่มีทางไป และการระบายน้ำลงสู่ด้านล่างก็ลำบาก เนื่องจากบางปะกงเป็นพื้นที่สูงกว่า จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณลาดกระบัง
ดังนั้น ในอนาคต ต้องมีแผนทำทางด่วนน้ำลงไปอ่าวไทยให้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่านคลองประเวศ และย้อนกลับมาพระโขนง ปัญหาคือน้ำทุกสายมาลงคลองพระโขนง ทำให้มีความอันตราย เพราะน้ำจะไหลเข้ามาในเขตเมือง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ เตรียมจะเสนอแผนต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งอาจจะเป็นการทำอุโมงค์หรือทางด่วนน้ำ ตัดจากคลองลำปลาทิว ลงสู่คลองร้อยคิว ของกรมชลประทาน สำหรับคลองชลประทานที่ระบายได้ดี คือ คลองสำโรง แต่อยู่นอกพื้นที่ กทม.ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ
ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะต้องช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากผลกระทบน้ำท่วมให้เร็วที่สุด พร้อมกำชับเลขาธิการ สทนช. ให้ประชุมโดยเร็ว และให้กรมโยธาธิการมาร่วมวางแผนด้วย ทั้งนี้ ถ้าเป็นคลองจะทำได้เร็วกว่า แต่หากเป็นอุโมงค์จะเสียงบประมาณมาก
ซึ่งนายชัชชาติ ให้ความเห็นว่า จะเป็นคลองหรือเป็นอุโมงค์ระบายน้ำขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และประหยัดงบประมาณ แต่หากเป็นคลอง อาจจะมีปัญหาเรื่องการจุน้ำได้น้อย และมีปัญหาเรื่องการเวนคืน
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จะมีการประชุม กอนช. ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งที่ประชุมจะนำแนวคิดที่จะทำให้การระบายน้ำได้เร็วขึ้นมาพิจารณา
จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้ดูปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำ พร้อมสั่งให้เร่งช่วยเหลือหมู่บ้านที่ยังมีน้ำท่วมขัง หรือเรียกได้ว่าจมน้ำ เพราะบางที่จมมา 7 วันแล้ว โดยให้นำเครื่องสูบน้ำไปช่วยเหลือสูบน้ำออกโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.รับปากจะรีบดำเนินการระบายน้ำลงสู่คลองหลัก โดยเมื่อน้ำในคลองหลักลดลงแล้ว ในอีก 1-2 วันก็จะปิดล้อมเร่งช่วยเหลือหมู่บ้านในพื้นที่ย่อยต่างๆ ที่ยังมีน้ำท่วมขัง พร้อมขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากรัฐบาลด้วย
จากนั้น พล.อ.ประวิตร และนายชัชชาติ ได้ออกไปยืนตรวจสถานการณ์น้ำที่บริเวณริมประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ รวมถึงดูเรื่องการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบ ซึ่ง กทม.ได้ติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียระยะทาง 4 กิโลเมตร ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.รายงานว่า สถานการณ์ที่มีนบุรียังดี และไม่รุนแรงมาก แต่จะหนักที่คลองประเวศ คลองลาดพร้าว และคลองเปรมฯ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
พล.อ.ประวิตร ได้ขอให้เร่งดำเนินการ พร้อมชื่นชมว่ากรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้มแข็ง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ตอบกลับว่า เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน
จากนั้น พล.อ.ประวิตร เดินทางต่อไปบริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำหนองจอก เขตหนองจอก พร้อมรับฟังการบรรยายเรื่องการระบายน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทราจากกรมชลประทาน และจะเดินทางต่อไปที่วัดวิบูลย์ธรรมาราม เขตหนองจอก เพื่อพบปะกับประชาชนและแจกถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม