กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังหลังพบว่า ในช่วงวันที่ 17-20 ก.ย.65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดังนี้
1.1 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเวียงแหง และอมก๋อย) , จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง) , จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ และปัว) , จังหวัดลำปาง (อำเภอเกาะคา เมืองลำปาง และแจ้ห่ม) , จังหวัดแพงเพชร (อำเภอคลองลาน) , จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง พบพระ วังเจ้า แม่สอด เมืองตาก อุ้มผาง และแม่ระมาด) , จังหวัดอุตรดิตถ์ (ฟากท่า) , จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และชาติตระการ) และ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ และวิเชียรบุรี)
1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอวังสะพุง) , จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอโซ่พิสัย) , จังหวัดขอนแก่น (อำเภอบ้านฝาง หนองเรือ พระยืน เมืองขอนแก่น และมัญจาคีรี) , จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอยางตลาด) , จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร และหนองบัวแดง) , จังหวัดอำนาจเจริญ (อำเภอชานุมาน และเสนางคนิคม) , จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขมราฐ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เมืองอุบลราชธานี และดอนมดแดง) , จังหวัดยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย) , จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอราษีไศล) และ จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอโนนไทย เมืองนครราชสีมา และโนนสูง)
1.3 ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี) และ จังหวัดราชบุรี (อำเภอบ้านคา)
1.4 ภาคตะวันตก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน) และ จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอหนองหญ้าปล้อง และแก่งกระจาน)
1.5 ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง แหลมสิงห์ ท่าใหม่ เมืองจันทบุรี และนายายอาม) และ จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด คลองใหญ่ เมืองตราด เกาะช้าง แหลมงอบ เขาสมิง)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา กิ่วลม และแม่มอก จังหวัดลำปาง, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา, อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี, และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์