คณะทำงานไทย-มาเลย์ นัดถก ธ.ค.เดินหน้าพัฒนาด่านชายแดนใต้-สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก

ข่าวทั่วไป Friday September 16, 2022 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลไทยและมาเลเซีย เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อไทยและมาเลเซียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รมต.อาวุโส และ รมว.โยธาธิการมาเลเซีย (Ministry of Works) ได้เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าพร้อมร่วมหารือกับฝ่ายไทย โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Idonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)

โดยจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหง-โกลก (สุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง) แห่งที่ 2 คู่ขนานกับสะพานเดิม โดยฝ่ายมาเลเซีย รับผิดชอบออกแบบรายละเอียด และอีกสะพานที่อำเภอตากใบ (ตากใบ-เปิงกาลันกูโบร์) ซึ่งมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นที่สามแยกตากใบ เป็นสามแยกจุดตัดของฝั่งประเทศไทย สิ้นสุดทางหลวงของประเทศมาเลเซีย มีระยะทาง 11 กิโลเมตร ออกแบบเป็นถนน 4-6 ช่องจราจร ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการคมนาคมและการค้าชายแดน รวมทั้งรองรับนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ปัจจุบันมีความคับแคบไม่สะดวกต่อการตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศที่ในแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก และทั้ง 2 ประเทศยังมีโครงการเชื่อมด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่สอง-ด่านบูกิตกายูฮิตัม และโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง จังหวัดสตูล-รัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการจัดทำ MOU ร่วมกันต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รมต.อาวุโสและ รมว.โยธาธิการมาเลเซีย จะเร่งนำข้อเสนอของฝ่ายไทยไปแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมาเลเซียพร้อมเร่งรัดการดำเนินในรายละเอียดให้มีความคืบหน้าโดยเร็วที่สุด รวมถึงการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่-ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม มาเลเซีย ที่จะร่วมกันจัดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (Expert Working Group: EWG) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ในเดือน ธ.ค. เพื่อให้สามารถเปิดใช้ด่านศุลกากรแห่งใหม่ได้โดยเร็ว

"รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีความเชื่อมั่นว่า โครงการเหล่านี้จะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้า การท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ เกินประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน" น.ส.รัชดา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ