นิด้าโพล เผยคนเชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการปี 65 ใช้เส้น-ระบบอุปถัมภ์

ข่าวทั่วไป Sunday September 18, 2022 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นิด้าโพล เผยคนเชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการปี 65 ใช้เส้น-ระบบอุปถัมภ์

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2565" โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด 5 อันดับแรก ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ตัวอย่าง 35.04% ระบุว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ รองลงมา 29.85% ระบุว่า ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ส่วนอีก 13.36% ระบุว่า ความอาวุโสในตำแหน่ง ขณะที่ 8.47% ระบุว่า วิสัยทัศน์ในการทำงานตำแหน่งใหม่ และอีก 7.94% ระบุว่า ความรู้ (เช่น ระดับการศึกษา การเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เป็นต้น)

ด้านความคิดเห็นต่อความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ตัวอย่าง 39.85% ระบุว่า ค่อนข้าง มีความเป็นธรรม รองลงมา 34.12% ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็นธรรม ส่วนอีก 12.29% ระบุว่า มีความเป็นธรรมมาก และอีก 11.83% ระบุว่าไม่มีความเป็นธรรมเลย

สำหรับความคิดเห็นต่อการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่า ตัวอย่าง 34.58% ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายค่อนข้างบ่อย รองลงมา 25.35% ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายเลย ส่วนอีก 23.13% ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสาย และอีก 15.57% ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายอย่างมาก

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่าตัวอย่าง 43.21% ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เลย รองลงมา 23.74% ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ส่วนอีก 19.69% ระบุว่า มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ค่อนข้างบ่อย ขณะที่ 10.08% ระบุว่า มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นประจำ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการดำเนินการหากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ตัวอย่าง 54.35% ระบุว่า จะใช้วิธีการอุทธรณ์ร้องไปตามขั้นตอนของระเบียบข้าราชการ รองลงมา 26.34% ระบุว่า ไม่ทำอะไรเลย เพราะผู้บังคับบัญชาได้พิจารณามาแล้ว ไม่ได้คาดหวังเรื่องตำแหน่ง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่บางส่วนระบุว่าใกล้จะเกษียณอายุ ส่วนอีก 6.72% ระบุว่า ฟ้องศาลปกครองทันที ขณะที่ 4.27% ระบุว่า ลาออก และอีก 3.44% ระบุว่า ใช้ Social Network เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ส่วนอีก 2.06% ระบุว่า พยายามหาเส้นสายที่ใหญ่กว่าไปกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีเพียง 1.75% ระบุว่า ฟ้องสื่อมวลชน

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของจากประชาชนที่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วย ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ