นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวปาฐกถาในงาน Huawei Connect 2022 Bangkok หัวข้อ "มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เฟื่องฟู" ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบในด้านของคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เทียบเท่าสถานการณ์ปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิดนั้น เป็นสิ่งที่ทุกประเทศกำลังทำ รวมถึงประเทศไทยก็พร้อมที่จะส่งเสริมกำลังของไทย เพื่อก้าวสู่อนาคตในฟื้นฟูกับเส้นทางที่มีความมั่นคงมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มต่างๆ ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไปตามรูปแบบการเติบโต และรูปแบบการเติบโตที่นำโดยนวัตกรรม และตั้งอยู่บนองค์ความรู้ ท่ามกลางการเกิดการแพร่ระบาดเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาสังคมได้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เกิดการรุกตลาดในเทคโนโลยีดิจิทัลในส่วนที่เป็นแอปพลิเคชัน เช่น โมบายเพย์เมนต์ การค้าอีคอมเมิร์ซ ที่มีการขยายตัวมากกว่า 120% ถือเป็นบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในปี 64 อัตราการเติบโตรายปีของเทคโนโลยีดิจิทัลสูงแตะ 44% และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขยายตัวมากถึง 26% รวมถึงอุตสาหกรรม Big Data ขยายตัวได้ 4% ขณะเดียวกัน มีหลายแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย อาทิ
1. การเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ ซึ่งการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นหลักประกันว่าจะสามารถฟื้นตัวและพัฒนาต่อไปในด้านของเศรษฐกิจได้
2. แนวคิดหรือนโยบาย 4.0 รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 จะกลับกลายมาเป็นศูนย์กลางของโลกในด้านอุตสาหกรรมและดิจิทัลอัจฉริยะ รวมถึงการใช้นวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ที่จะสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย
3. ไทยได้กำหนดพันธกรณี คือ ไทยต้องการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเศรษฐกิจรวบรวมอุตสาหกรรมที่ใช้คาร์บอนต่ำ รวมถึงแนวคิด BCG ของไทย ก็จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าต่อไป
อย่างไรก็ดี ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสภาพแวดล้อมภายนอก ประเทศไทยได้มีการทำมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลผ่านโครงการที่ริเริ่มด้านนโยบาย โดยกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หรือดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งจะเป็นเสาหลักในการที่จะบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ จะเป็นการกระตุ้นการลงทุนและขับเคลื่อนความเติบโตเศรษฐกิจด้วย ภายในปี 2570 มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 30% ของ GDP ประเทศไทย และความสามารถในการแข่งขันของไทย ตามอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก หรือ World Digital Competitiveness Ranking มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ใน 30 อันดับแรก
ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยเป็นเส้นทางหลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลในภูมิภาคอาเซียนตอนเหนือ และศักยภาพการทำงานข้ามพรมแดน การวางเคเบิลใต้สมุทร และการจัดตั้งศูนย์ Data center ขนาดใหญ่ จะยังคงมีการพัฒนาต่อไปตลอดทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลได้เสริมความแข็งแกร่งเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน และการพัฒนาที่มีความมั่งคั่ง เช่น กระทรวงได้จัดตั้ง Data center และบริการคลาวด์ ที่จะสนับสนุนนวัตกรรมและทำให้รัฐสามารถมอบบริการสาธารณะที่มีความเท่าเทียมได้ นอกจากนี้ สามารถดำเนินการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยพื้นฐานระดับสูงที่มีและการใช้เทคโนโลยีประมวลผลต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
"ขณะเดียวกัน ทำให้อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล เช่น ยุคสมัยของเว็บ 3.0 ธุรกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจดิจิทัลคอนเทนต์แบงก์เสมือนจริงๆ เมตาเวิร์ส เป็นต้น จะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไทยมีความยินดีที่จะเห็นว่าการดำเนินการเหล่านี้ ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย จึงมีเป้าหมายจะบรรลุการให้บริการอินเทอร์เน็ตไฮสปีด ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมด้วยราคาสมเหตุสมผล ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" นายชัยวุฒิ กล่าว
จากข้อมูลของดีอีเอส มีผู้ปฏิบัติงานด้านไอซีทีในประเทศไทยมากกว่า 430,000 ราย โดยความสำคัญของผู้มีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจของทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัล 1 คน มีค่าเทียบเท่ากับคนทั่วไปถึง 10 คน และปี 2570 เศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็น 30% ของ GDP ดังนั้น ไทยมีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกอบรมกำลังคนมากกว่า 500,000 คน ภายใน 5 ปี ต่อจากนี้ เพื่อให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล
"เศรษฐกิจดิจิทัลจะไม่เกิดขึ้นได้ข้ามคืน ซึ่งความคืบหน้าที่มีอยู่ เกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า Huawei connect เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลา โดยความร่วมมืออุตสาหกรรมต่างๆ จะได้มาหารือเชิงลึก และแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเอเชียแปซิฟิก ให้กลายเป็นภูมิภาคที่มีความยั่งยืนสำหรับพวกเราทุกคน รวมถึงการร่วมมือกันในครั้งนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน" รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว