กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 4 - 21 ก.ย. 65 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 36 จังหวัด รวม 99 อำเภอ 230 ตำบล 874 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 142,180 ครัวเรือน และกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 835 ครัวเรือน ปัจจุบันหากไม่มีฝนตกหนักในพื้นที่ สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 วัน
ขณะที่ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ โดยสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 22 ก.ย. 65 ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 18 อำเภอ 130 ตำบล 682 หมู่บ้าน ดังนี้
- ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอสามเงา รวม 3 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,029 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- ขอนแก่น เกิดน้ำในแม่น้ำชีล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- มหาสารคาม เกิดน้ำในแม่น้ำชีล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอโกสุมพิชัย รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ รวม 3 ตำบล 19 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 271 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 88 ตำบล 535 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,561 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก และอำเภอไชโย รวม 9 ตำบล 33 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 745 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- สิงห์บุรี เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมืองสิงห์บุรี รวม 3 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 170 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
- ปทุมธานี เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
กรมป้องกันฯ ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป