นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ว่า การประชุมวันนี้ จะพูดคุยถึงเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งมีรายละเอียด เช่น การผ่อนคลายชาวต่างชาติไม่ต้องตรวจ ATK รวมถึงไม่ดูผลการฉีดวัคซีน เป็นต้น แต่ยังเน้นให้ประชาชนต้องดูแลตนเอง เพราะยังต้องอยู่กับโควิดไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้
ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน ส่วนการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่รายงานเข้าระบบมีประมาณ 13,000-14,000 คนต่อวัน และยังมี ATK ที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีประมาณ 2-3 เท่าต่อวัน
อย่างไรก็ดี เมื่อนับรวมผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 3-4 หมื่นรายต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง คือเหตุผลการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยังไม่เท่ากับการเป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้
ทั้งนี้ เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง ถือว่าสามารถผ่อนคลายกิจกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ย้ำให้ทุกคนดูแลตัวเอง เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มีอยู่ 1% ซึ่งไทยถือว่าต่ำกว่าทั้งโลกมาก ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน หลังจากติดโควิด-19 แล้ว มักจะมีอาการลองโควิด ที่ทำให้บั่นทอนสุขภาพและการทำงาน จนนำมาสู่ความวิตกกังวลและกลายเป็นจิตวิตกในที่สุด
"ย้ำให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงตนเอง อย่าไปในที่แออัด ลดพื้นที่เสี่ยงในที่ชุมชน และยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเหตุผลที่ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย เพราะยังมีความเสี่ยง ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังไม่หมดไป แต่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ" นพ.อุดม กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น รัฐบาลไม่กลัวเพราะได้มีการวางระบบไว้หมดแล้ว โดยเรียนรู้จากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือจากทุกกระทรวง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดย ศบค. ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้ และถ้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค. ไปด้วย
โดยเมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ก็จะใช้วิธีมอบหมายกระทรวงต่างๆ ให้ทำหน้าที่ในการทำงานและบูรณาการร่วมกัน โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อน เบื้องต้นจะให้ครม. มอบหมายงานให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกัน ก่อนที่ระยะยาวจะรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ขณะนี้จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีโครงสร้างบางส่วนที่คล้าย ศบค.
"ก่อนหน้านี้ สามารถประกาศ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ก่อนทำเข้าสู่สภาภายหลัง แต่ช่วงที่ผ่านมามีปัญหา จึงยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ยืนยันว่า จะไม่เกิดสุญญากาศระหว่างรอกฏหมาย เพราะสถานการณ์ไม่เข้มข้นเท่ากับช่วงที่มี ศบค. และกระทรวงต่างๆ คุ้นเคยการทำงาน และมีความเชื่อมโยงกันหมดแล้ว" นพ.อุดม กล่าว