น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป รัฐบาลได้จัดเตรียมแนวทางบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาโรค รวมถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนไว้รองรับอย่างชัดเจน
ในส่วนของการให้วัคซีนป้องกันโรคนั้นยังคงดำเนินไปตามเป้าหมายเดิม คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนและผู้รับเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณวัคซีนมีเพียงพอกับความต้องการ ทั้งวัคซีนคงคลังที่สามารถจัดสรรได้ทันที และวัคซีนที่ทำสัญญาไว้แล้วรอการส่งมอบจากผู้ผลิตในระยะต่อไป
สำหรับโครงสร้างการดำเนินงานของการบริหารจัดการวัคซีนในระยะที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จะมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ให้คำแนะนำการใช้วัคซีน จะดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 2.การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ดำเนินการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่ง 2 ส่วนแรกนี้ดำเนินงานเช่นเดียวกับช่วงที่ยังคงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 3.การจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด19 จากเดิมที่ดำเนินการโดย ศบค. จะเปลี่ยนไปอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด19 ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป
โดยแผนการให้วัคซีนประชาชนในเดือน ต.ค.65 มีทั้งสิ้น 7 ล้านโดส เป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ต้องการรับเข็ม1-2 หรือ เข็มกระตุ้น จำนวน 5 ล้านโดส 2.ผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ต้องการเข็ม1-2 หรือเข็มกระตุ้น จำนวน 5 แสนโดส 3.เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น จำนวน 1 ล้านโดส 3)เด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ที่ต้องการรับเข็ม 1 จำนวน 5 แสนโดส และ 4.ผู้ที่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและต้องการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป(LAAB) จำนวน 4 หมื่นโดส
"วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้มสำหรับหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับมอบจากผู้ผลิตประมาณกลางเดือน ต.ค. จากนั้นจะกระจายผ่านระบบสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม.กำหนด นอกจากนี้จะมีการประสานความร่วมมือกับ อปท. กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริการฉีดให้กับศูนย์เด็กเล็ก โดยดำเนินการภายใต้การกำกับของแพทย์" น.ส.ไตรศุลี กล่าว