(เพิ่มเติม) มท.1 สั่งด่วนทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับพายุ "โนรู"

ข่าวทั่วไป Tuesday September 27, 2022 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และผลกระทบจากพายุ "โนรู" พร้อมทั้งกำชับดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ตามแนวทาง ดังนี้

1) ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ติดตามสถานการณ์พายุโนรู รวมทั้งประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ อาทิ ปริมาณฝน น้ำท่า การระบายน้ำจากเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อการเกิดสถานการณ์อุทกภัย และดินโคลนถล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับ พร้อมทางแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

2) กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยกำหนดพื้นที่ ภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ เตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

3) เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

4) หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยให้ฝ่ายปกครองกำนันผู้ใหญ่บ้านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ

5) สำหรับจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย และเกิดขึ้นต่อเนื่องให้จัดตั้งศูนย์พักพิงและวางแผนบริหารจัดการ เพื่อรองรับการอพยพของประชาชนอย่างเป็นระบบ สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลให้มอบหมายหน่วยงาน ที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน การปิดกั้นหรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่าง ๆ ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือ ช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งที่อาจจะเป็นอันตราย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ตลอดจนกำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ให้ศูนย์บัญชาการเหตุจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติหรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เร่งเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุปฏิบัติการช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เข้าช่วยเหลือด้านต่างๆ อาทิ ช่วยเหลือรถเสียจากน้ำท่วม กีดขวางการจราจร จัดการจราจรหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม อำนวยความสะดวกเส้นทางสัญจร และชุดสายตรวจคอยป้องกันเหตุอาชญากรรม ไม่ให้คนร้ายมาฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งติดตามข่าวสาร เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนหากมีสภาวะฉุกเฉิน โดยหากอุทยานใดมีความสุ่มเสี่ยงต่อการจะเกิดอุบัติเหตุ ขอให้ปิดตัวเพื่อดูแล ป้องกันเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

ขณะที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เตรียมแผนการรับมือและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม พร้อมทั้งเดินหน้าแผนรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยดำเนินการจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในแต่ละทุ่งรับน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำ เกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่ง ระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา มาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ และการให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ประสานงานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง และหากมีความจำเป็นได้เตรียมความพร้อมในแผนการอพยพประชาชนไว้ล่วงหน้า รวมถึงสัตว์เลี้ยง ยานพาหนะและทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ