นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยและมีน้ำท่วมขัง ได้กำชับทุกหน่วยงานของกรมเจ้าท่า ระดมสรรพกำลังลงพื้นที่ และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือตรวจการณ์เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง อำนวยความสะดวกประชาชนที่สัญจรทางน้ำ ตลอดจนรับ-ส่งประชาชนที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้การสัญจรทางน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา กรณีเรือโดยสารเกิดผลกระทบไม่สามารถให้บริการได้ จนกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ
รวมถึงสั่งการให้สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า จัดทำแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในภาวะฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน พร้อมกำหนดมาตรการเข้มด้านความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ ดังนี้
1. ควบคุมความเร็วในการเดินเรือ ในช่วงระดับน้ำขึ้นสูง (เดินเรือกลางน้ำ ช้าและเบา)
2. ให้ผู้ควบคุมเรือ เพิ่มความระมัดระวังในการเทียบท่า รับ-ส่งผู้โดยสาร
3. ให้เจ้าหน้าที่ประจำท่า และผู้ควบคุมท่าเรืออำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลงเรือของผู้โดยสาร
4. สั่งเตรียมความพร้อมเรือตรวจการณ์ และเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยทางน้ำ
5. ให้เจ้าหน้าที่ประจำท่า ผู้ควบคุมท่าเรือ และผู้ควบคุมเรือ ตรวจความพร้อมก่อนเรือออกจากท่า
นอกจากนี้ ได้เร่งติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือราชินี ให้แล้วเสร็จก่อนช่วงเทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงและพร้อมสำหรับพิธีเปิดท่าเรือ ที่เตรียมจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้ ท่าเรือราชินี ที่กรมเจ้าท่าดำเนินการพัฒนา ถือเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีผู้โดยสารใช้บริการผ่านท่าเรือฯ เป็นจำนวนมาก อาทิ นักเรียน ประชาชน นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง ล้อ-ราง-เรือ ที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT บริเวณสถานีสนามไชย
สำหรับการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือราชินี มีแนวคิดการออกแบบเน้นความสวยงาม และมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้เป็นท่าเรือที่สวยที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ช่วยให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย โดยดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ได้แก่
1. ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ 1,277 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่ดาดฟ้าหลังคา ให้เป็นลานกิจกรรมใช้ประโยชน์เป็นจุดชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมตกแต่งภายในบริเวณอาคารพักคอย เน้นความเป็นไทย มีระบบควบคุมและการให้บริการที่ทันสมัย
2. ก่อสร้างทางเดินเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่บนฝั่งจุดเชื่อมต่อทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย พร้อมซุ้มประตูทางเข้าท่าเรือให้มีความเป็นเอกลักษณ์
3. ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 9 x 24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับขึ้นลงโป๊ะเทียบเรือ จำนวน 1 โป๊ะ
ทั้งนี้ ภายหลังปรับปรุงแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,900 คน/วัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 95% พร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้