นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ณ อาคารควบคุมเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ก่อนลงพื้นที่ติดตามการระบายน้ำ ณ ประตูระบายน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา รับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.บริเวณจุดติดตั้งรถเคลื่อนที่ Mobile Warroom ณ หน้าที่ว่าการ อ.เสนา และการระบายน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์ฝนปัจจุบัน เพื่อเร่งแผนการระบายน้ำทั้งบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาออกไปทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกให้ได้มากที่สุด โดยไม่เกินศักยภาพที่ระบบชลประทานรองรับได้และกระทบพื้นที่น้ำท่วมขังเดิมให้น้อยที่สุด
โดยกรมชลประทานได้วางแผนเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูมโนรมย์เพิ่มขึ้นอีก 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) จากเดิม 35 ลบ.ม./วินาที รวมเป็น 70 ลบ.ม./วินาที และผ่านประตูพลเทพเพิ่มในอัตรา 25 ลบ.ม./วินาที จากเดิมระบายอยู่ที่ 135 ลบ.ม./วินาที รวมเป็น 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาและรักษาระดับเหนือเขื่อนไว้ไม่เกิน 17.6 ม.รทก. ซึ่งปัจจุบันระดับเหนือสูงสุดได้ไหลผ่าน จ.นครสรรค์แล้วในอัตรา 3,099 ลบ.ม./วินาที แต่เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาเพิ่มเติมส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,048 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตาม หากแนวทางดังกล่าวทำให้ผลกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น กรมชลประทานจะปรับแนวทางเป็นการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 3,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไม่ทำให้ระดับน้ำที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เกินเกณฑ์ควบคุม
ทั้งนี้ สทนช.ได้เน้นย้ำกรมชลประทานพิจารณาเพิ่ม-ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนต่าง ๆ ตามสถานการณ์ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด และให้กรมชลประทานพิจารณาการระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ให้เต็มศักยภาพ โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงเร่งดำเนินการนำน้ำเข้าทุ่งรับน้ำทั้ง 10 ทุ่งให้ได้ตามแผน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วประมาณ 75% และได้มีการติดตั้งโทรมาตรติดตามการรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำแล้วจำนวน 6 ทุ่ง โดย สสน.จะดำเนินการติดตั้งให้ครบทั้ง 10 ทุ่งภายในสัปดาห์หน้านี้ รวมถึงการสำรวจคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 64 จุดเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปให้หน่วยงานในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการป้องกันพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไปด้วยเช่นกัน
"ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งแผนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังโดยเร็ว ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการเร่งลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถดำเนินการรับน้ำเข้าไปทางฝั่ง จ.สุพรรณบุรี หรือชัยนาท-ป่าสัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ค่อนข้างมากจากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ หากรับเข้าไปเพิ่มจะทำให้สถานการณ์แย่ลง แต่ในช่วงที่ฝนเริ่มลดลง กรมชลประทานได้มีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มขึ้นแล้ว โดยการปล่อยน้ำลงคลองระพีพัฒน์ที่ไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบถึง กทม.ตามที่มีกระแสข่าวว่าจะกระทบพื้นที่คลองสายไหม ดอนเมืองนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด รวมถึงศูนย์ส่วนหน้าฯ จะเร่งประสานกองทัพเรือขอสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการเร่งการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนลงทะเลให้เร็วขึ้น โดยจะติดตั้ง 2 จุด ได้แก่ หน้าวัดเทียนดัด อ.สามพราน จ.นครปฐม และหน้าวัดท่าไม้ บ้านกงสีล้ง ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร อีกด้วย" นายสุรสีห์ กล่าว