นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์ราคาสุกรในประเทศจีน ว่า จากสารพัดปัจจัยทั้งโรคระบาดในคน โรคระบาดในหมู และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ดีดตัวอย่างแรง ส่งผลให้ราคาหมูสดของจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 94.7% เทียบกันปีต่อปี ราคาหมูมีชีวิตท้องถิ่นอยู่ที่ 23.15 หยวน ต่อกิโลกรัม หรือ 122 บาทต่อกิโลกรัม และเป็นราคาที่ไม่มีเสถียรภาพ
ขณะที่ต้นทุนการผลิตในเดือนส.ค. นี้ เพิ่มขึ้น 22.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 64 ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เกิดผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค จนรัฐบาลต้องระบายสต็อกหมูแช่แข็งสำรองในคลังห้องเย็นของรัฐบาลออกมา เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวจีน
สำหรับสถานการณ์ราคาสุกรของไทยปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภครับได้ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มยืนราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่าครึ่งปี
ขณะที่ราคาขายปลีกเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคาดว่าราคาจากนี้ไปจะยังทรงตัวสูง เนื่องจากผลผลิตยังออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับหลังเทศกาลกินเจและเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ก่อนเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารสูง ราคาจึงปรับขึ้นตามกลไกตลาด
"ราคาเนื้อสุกรของไทยขณะนี้ ไม่ถือว่าแพง เป็นราคาที่ปรับขึ้นสอดคล้องกับราคาในประเทศจีนที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 122 บาทต่อกิโลกรัม หลังผลผลิตในประเทศขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่มากกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาทรงตัวใกล้เคียงกับไทย และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง" นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายสิทธิพันธ์ กล่าวต่อว่า อาจประเมินได้ว่าตอนนี้หมูทั่วโลกขาดแคลน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาราคาสุกรอ่อนลงเล็กน้อย เนื่องจากฝนตกชุกเกษตรกรเร่งจับหมูหนีน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่เป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ความต้องการบริโภคลดลง ราคาจึงปรับลงตามกลไกตลาด แต่หลังจากนี้ราคาจะปรับสูงขึ้น ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยังคงให้ความร่วมมือภาครัฐมาโดยตลอด ในการตรึงราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับราคาเนื้อหมูในปี 66 ต้องติดตามสถานการณ์ดูปริมาณผลผลิตหมูในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าว่า จะสามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย และสามารถขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปไปจีนหรือเวียดนามได้อย่างไร ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ราคาหมูไทยทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาต้นทุนผลิตเป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยของไทยสูงเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ทำให้ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด