รมว.แรงงาน ย้ำนายจ้างขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติให้ถูกต้องภายใน 15 ต.ค.

ข่าวทั่วไป Friday October 14, 2022 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 กำหนดให้นายจ้างที่ใช้แรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ยังมีสถานะ "ไม่ถูกต้อง" แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงระยะ คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 1 - 15 สิงหาคม 2565 ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางาน ช่วงที่ 2 วันที่ 16 สิงหาคม - 15 ตุลาคม 2565 ชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานคู่กัน แสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ช่วงที่ 3 วันที่ 16 สิงหาคม 2565 - 13 กุมภาพันธ์ 2566 จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค ยื่นเอกสาร/พิจารณาอนุมัติในระบบ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ โดยขณะนี้ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการระยะที่ 2 ดังนั้นเพื่อให้แรงงานข้ามชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้โดยถูกกฎหมาย นายจ้าง/สถานประกอบการจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

"การเปิดโอกาสให้แรงงาน 4 สัญชาติ ที่ยังมีสถานะ "ไม่ถูกต้อง" ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทย ก่อนมีมติครม.วันที่ 5 ก.ค. 65 ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ ผลักดันแรงงานต่างด้าวที่เคยอยู่ใต้ดินเข้าสู่ระบบ รัฐเกิดรายได้และสามารถบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมาย ผมจึงขอกำชับนายจ้าง/สถานประกอบการ เร่งดำเนินการชำระเงิน และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 ตุลาคมนี้ เพื่อสามารถดำเนินการในขั้นตอนถัดไประหว่างวันที่ 16 ส.ค. ? 13 ก.พ. 66" นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากนายจ้าง/สถานประกอบการชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาทแล้ว จะต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4 โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานคู่กัน แสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

หลังจากได้รับใบรับคำขออนุญาตทำงานฯและใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม โดยใช้หลักฐานดังกล่าวแสดงต่อเจ้าหน้าที่

กรณีทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน ซึ่งต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข

กรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข

จากนั้นนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน นำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค ยื่นเอกสาร/พิจารณาอนุมัติในระบบ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2565 - 13 กุมภาพันธ์ 2566

"มติครม. 5 ก.ค. 65 เปิดโอกาสให้แรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง อยู่และทำงานได้ถึง 13 ก.พ. 68 โดยแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66 ก่อน และหากประสงค์ทำงานต่อไป ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตรา VISA ภายใน 13 กุมภาพันธ์ 66 เพื่อนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ