ไทยพบโอมิครอน BQ.1 แล้ว 1 ราย ห่วงแพร่ระบาดเร็ว คาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้หรือต้นปี 66

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2022 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิดโลก "GISAID" พบโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย

ทั้งนี้ นพ.แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวถึงสาเหตุที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวลใจเกี่ยวกับบรรดาโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ เช่น BQ.1 และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นหลานของโอไมครอน BA.5 เนื่องจาก 2 เหตุผลสำคัญ คือ

1. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 มีการเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัว (doubling time) ภายในอาทิตย์เดียวติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ ซึ่งถือว่าสูงมาก

2. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่มีใช้อยู่ เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และเบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ที่ใช้รักษาโควิด-19

ปัจจุบัน โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เช่น BQ.1 มีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามธรรมชาติหรือภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอมิครอน BA.5 จะมีภูมิต้านทานการติดเชื้อโอมิครอน BQ.1 ได้ดีกว่าเล็กน้อย (เนื่องจาก BQ.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5) เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอมิครอน BA.2, ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอมิครอน BA.1 และผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อนตามลำดับ

ดังนั้น การใช้วัคซีนเจเนอเรชัน 2 (adaptive vaccine) ที่ใช้ส่วนหนามกับ BA.5 เป็นตัวกระตุ้น น่าจะยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ BQ.1 และ BQ.1.1 ในร่างกายของผู้ติดเชื้อได้ เนื่องจาก BQ.1 และ BQ.1.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5 จึงมีส่วนหนามคล้ายกัน

นอกจากนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ ยังดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูป (เจเนอเรชันแรก) เป็นส่วนใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (เจเนอเรชันสอง) ที่เข้าจับหนามของอนุภาคไวรัสบริเวณที่ไม่มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลง รักษาผู้ติดเชื้อโอมิครอน ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2, BA.4/BA.5 จนมาถึงสายพันธุ์ย่อยล่าสุด BA.2.75.2, BQ.1, BQ.1.1, และ XBB เช่น แอนติบอดี ค็อกเทล "SA55+SA58" ซึ่งสามารถเข้าจับและทำลายโอมิครอนได้ทุกสายพันธุ์

สำหรับโอมิครอน BQ.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญคือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี ในสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อ BQ.1 ที่ 5.7% ของโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ที่ระบาดอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งหมด และหากคิดรวม BQ.1.1 (กลายพันธุ์เพิ่มจาก BQ.1 อีกหนึ่งตำแหน่ง คือ R346T) จะมีผู้ติดเชื้อ BQ.1 และ BQ.1.1 รวมกันถึง 11.4% ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์ย่อยทั้งสองจะมาแทนที่ BA.4.6 ซึ่งระบาดในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันคิดเป็น 12.2% แต่ขณะนี้ BA.4.6 มีปริมาณการเพิ่มจำนวนที่คงตัว ในขณะที่โอมิครอน BA.5 ในสหรัฐฯ ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ขณะนี้เหลือเพียง 67.9%

ทั้งนี้ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.5.2 เกือบ 15% ต่อวัน ในขณะที่ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 14% ต่อวัน บ่งชี้ว่า BQ.1 น่าจะเจริญเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่า ส่งผลให้แพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 66

อย่างไรก็ดี แม้โอมิครอน BQ.1 และ BQ.1.1 จะมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าโอมิครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตแตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ