ต่อมาวันที่ 18 ต.ค. 65 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต และทางโรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 จ.ภูเก็ต ผลตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ Monkeypox virus ส่วนเพื่อนอีก 3 คน ไม่มีอาการ สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ต.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 75,345 ราย พื้นที่การระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 27,774 ราย บราซิล 8,778 ราย สเปน 7,277 ราย ฝรั่งเศส 4,084 ราย และสหราชอาณาจักร 3,686 ราย มีผู้เสียชีวิต 32 ราย จากประเทศไนจีเรีย 7 ราย บราซิล 7 ราย กานา 4 ราย สหรัฐอเมริกา 4 ราย สเปน 2 ราย แคเมอรูน 2 ราย เบลเยียม 1 ราย เอกวาดอร์ 1 ราย อินเดีย 1 ราย ซูดาน 1 ราย คิวบา 1 ราย และเช็กเกีย 1 ราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่ประชาชนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคฝีดาษวานร คือการใช้ถุงยางอนามัย แม้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายโรค แต่ถุงยางอนามัยยังไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ เพราะการสัมผัสชิดเนื้อแนบเนื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ การป้องกันจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสใกล้ชิดคนแปลกหน้าหรือไม่รู้ประวัติมาก่อน สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด เลี่ยงการไปสถานที่แออัดหรือเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษวานร