น.ส. ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน (Declaration on the Digital Transformation of Education Systems in ASEAN) พร้อมทั้งอนุมัติให้ รมว.ศึกษาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนดังกล่าว
โดยหลังจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะได้มีหนังสือแจ้งการรับรองอย่างเป็นทางการถึงสำนักเลขาธิการอาเซียน และนำเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในวันที่ 11 พ.ย.65 เพื่อพิจารณาและร่วมรับรองต่อไป เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเข้าถึงการเรียนรู้ดิจิทัลที่ปลอดภัย ส่งเสริมโอกาสและทักษะความสามารถทางดิจิทัลและพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดและต่อยอดได้
"ปฏิญญาอาเซียนฯ นี้จะเป็นประโยชน์ต่อครู ผู้ฝึกอบรม นักการศึกษา (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการศึกษา) นักเรียนและประชาชนไทยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21" น.ส. ทิพานัน กล่าว
โดยปฎิญญาอาเซียนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้กับประชากรชายขอบ และเด็ก และเยาวชนตกหล่น ผ่านการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและทางไกล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีผู้ดูแลที่ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.ยอมรับความแตกต่างของการศึกษาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบดิจิทัลในประเทศสมาชิกอาเซียน และการจัดการกับความท้าทายในด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
3.พัฒนานโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในโรงเรียนทุกระดับ รวมทั้งเชื่อมโยงนโยบายระหว่างภาคการศึกษากับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น วิสัยทัศน์ประเทศและวิสัยทัศน์อาเซียนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลทางการศึกษาที่เชื่อมโยงการเรียนรู้และทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับโรงเรียน การทำงาน และชีวิต
4.พัฒนาและรับรองนโยบายให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง ระบบบริหารจัดการข้อมูลทั่วประเทศ (การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม) และในระดับอาเซียน เพื่อใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการบริการทางสังคม
5.ส่งเสริมกลไกและนวัตกรรมใหม่ เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาระดับชาติ และจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับการเรียน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในราคาประหยัด รวมทั้งขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต ผ่านโครงการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการเรียนรู้ด้านดิจิทัล และเกิดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนระบบอิเล็กทรอนิกส์
6.จัดให้มีการเรียนรู้ดิจิทัลแบบออฟไลน์ (ออนไซต์) (เป็นการเรียนทฤษฎี โดยสอนเรื่องความรู้/การจำลอง/วิธีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในห้องเรียน) ในโรงเรียนที่ยังไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ ทางออฟไลน์และออนไลน์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
7.ลดการเกิดสภาพแวดล้อมเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลด้านการศึกษา และค้นหาความเสี่ยงที่จะเกิดต่อเด็ก เช่น การสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชังและความรุนแรงต่างๆ ในแพลตฟอร์มดิจิทัล และคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ในการเรียนที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยการสนับสนุนให้ครูและผู้ดูแลคอยให้ความช่วยเหลือเด็ก รวมทั้งจัดให้มีการบริการคุ้มครองเด็กผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
8.พัฒนานโยบายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล วิธีการรวบรวมข้อมูล บันทึกและเข้ารหัสเพื่อคุ้มครองข้อมูล และส่งเสริมการใช้ข้อมูลการศึกษาที่โปร่งใสทั้งในระดับโรงเรียนและระดับบริหาร
9.การตรวจสอบและประเมินผลตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งในระดับโรงเรียน และระดับบริหารจัดการ เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอน สนับสนุน การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่เพิ่มภาระให้กับครู
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้ประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นช่วงเดือน ต.ค.67 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างปี 2567-2568