น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการให้คำปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ และร่างแผนงานคณะกรรมการตรวจแรงงานอาเซียน พ.ศ.2565-2573 (ร่างแผนงานฯ) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการดำเนินงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ
โดยร่างแนวทางฯ ดังกล่าว เป็นแนวทางสำหรับการป้องกันและบริหารจัดการการติดเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปปรับใช้ร่วมกับนโยบายและกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ มีหลักการสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน ได้แก่
1. คุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการกระทำโดยสมัครใจ โดยก่อนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี แรงงานจะต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอและให้ความยินยอม
2. ข้อมูลการปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีจะต้องถูกเก็บรักษาเป็นความลับ
3. มีการให้คำปรึกษาหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อช่วยให้แรงงานหรือครอบครัวที่กำลังมีความเสี่ยงเข้าใจและปรับตัวได้
สาระสำคัญจำแนกเป็น 4 ประเด็น คือ
1. การพัฒนาสมรรถนะหลักของพนักงานตรวจแรงงาน
2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจแรงงานในภาคส่วนที่เข้าถึงยาก เช่น การเกษตร ประมง เหมืองแร่ งานบ้าน และระบบแบบส่งต่อ เพื่อป้องกันการใช้แรงงานบังคับ และแรงงานเด็ก รวมถึงการตรวจแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์
3. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งการตรวจแรงงานนอกระบบและ SMEs
4. การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจแรงงานของการทำงานในอนาคต รวมถึงการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นอกจากนี้ ยังมีกลไกการดำเนินงานในการให้คำปรึกษา และตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ สร้างการรับรู้ ให้คำปรึกษา และตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจของแรงงาน ประเมินความเสี่ยงทางพฤติกรรมและอาชีพ ซึ่งหากพบว่าผลตรวจเป็นผู้ติดเชื้อ ก็จะมีการให้คำปรึกษาหลังการตรวจ ไม่ให้เกิดการต่อต้านการ และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้แรงงานได้รับการรักษา เช่น การใช้ยาต้านไวรัส นอกจากนี้ยังมีการตรวจซ้ำอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มเสี่ยงด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้ รมว.แรงงาน ลงนามในหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อรับรองร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาโรคเอดส์ได้ภายใน ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนการดำเนินงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (Joint United Nations Programme on HIV/AIDS: UNAIDS)