นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีสภา กทม. ล่มหลังมีการเสนอญัตติขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ผู้บริหาร กทม.ตั้งใจจะเร่งแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของชาว กทม. โดยตรง
ดังนั้น จึงมีการเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม.เรื่องแนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่ามีแนวทางความเห็นในเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับข้อกังวลของสมาชิกสภา กทม.ถึงอำนาจในการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม. ยืนยันว่าการเสนอญัตติดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อขอมติสภาฯ กทม. เพื่อนำไปใช้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงการขอรับความเห็นของสมาชิกสภาฯ กทม.เท่านั้น
"ในเรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ย้ำว่า เราไม่ได้ลงมติหรือใช้อำนาจอะไร เราเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าเราไม่พูดและประชาชนจะพูดผ่านใคร" โฆษก กทม. กล่าว
ดังนั้น ความคิดเห็นของสมาชิกสภาฯ กทม.ทุกคน จึงมีความสำคัญต่อการบริหารงานของ กทม. โดยเฉพาะผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเห็นไม่เห็นด้วยในมุมมองต่างๆ ก็จะจดบันทึกไว้โดยละเอียดเพื่อรวบรวมนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือจาก รมว.มหาดไทยถึงผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 65 เรื่อง ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากกทม. ซึ่งมีผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. บริหารราชการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน
"กทม. ยืนยันว่าการยื่นญัตติดังกล่าว เป็นไปเพื่อชี้แจงรายละเอียดในส่วนการบริหารจัดการในความรับผิดชอบของ กทม. ให้สภา กทม. ได้รับทราบ และเป็นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเท่านั้น ทั้งนี้ สภา กทม.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นส่วนสำคัญตามโครงสร้างการบริหารราชการกทม. และมีหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมการใช้จ่ายงบประมาณของกทม. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับกทม. และประชาชนกรุงเทพฯ" โฆษก กทม. กล่าว
อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นของสมาชิกสภา กทม. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ถือเป็นเสียงสำคัญที่สะท้อนความต้องการของประชาชน ดังนั้น หากสภา กทม.เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ให้รอบคอบรอบด้าน โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการหรือให้ข้อมูล ฝ่ายบริหารก็พร้อมที่จะดำเนินการ
"การนำเรื่องเข้าสู่สภา กทม. เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของกทม.จะได้หารือร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความคิดเห็นของสมาชิกสภาฯ กทม. ทุกคนล้วนมีความสำคัญ ในการช่วยกันนำปัญหาของประชาชนไปสู่ทางออก ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากทม. และสภาฯ กทม. จะได้มีโอกาสปรึกษาหารือกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนต่อไป" โฆษก กทม. กล่าว