นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อมูลการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศยูกันดาว่า การระบาดในครั้งนี้ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มาก แต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด โดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดี WHO ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC)
สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดาทุกราย จะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย
ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข มีหน้าที่ยืนยันสาเหตุและสถานการณ์ของโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และเตรียมความพร้อมการตรวจวิเคราะห์เชื้ออีโบลาทางห้องปฏิบัติการ ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยาที่มีความไวและความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 8 ชั่วโมง ช่วยให้การควบคุมโรคและการรักษาผู้ป่วยได้ทันเวลา
นอกจากนี้ มีห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 สำหรับการปฏิบัติงานกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต ที่ออกแบบพิเศษ ทำให้ความดันภายในห้องปฏิบัติการน้อยกว่าความดันภายนอก กรองอากาศเข้า-ออก เน้นการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก บุคลากรมีความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 ได้ผ่านการฝึกอบรมความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ และมีความชำนาญในการตรวจวิเคราะห์เป็นอย่างดี รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการขนส่งตัวอย่างตรวจ ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และสามารถทำลายเชื้อหากเกิดการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้จัดทำคู่มือการตรวจวิเคราะห์และจัดการสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้ออีโบลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการอ้างอิง ใช้เป็นคู่มือในการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ
สำหรับเนื้อหา มีทั้งวิธีการตรวจวิเคราะห์ และรายการทดสอบของงานประจำห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล วิธีการเก็บ วิธีการนำส่งตัวอย่าง และการวิเคราะห์เชื้ออีโบลาสำหรับห้องปฏิบัติการอ้างอิง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการอ้างอิง และบุคคลากรสาธารณสุขที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะนำไปปฏิบัติ