พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร (ตามแผนหลักการพัฒนาหนองหารฯ) สำหรับ "หนองหาร" เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร การบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่ชะลอน้ำเพื่อบรรเทาอุกภัย และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 93% ของความจุ ซึ่งในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา หนองหารสามารถช่วยชะลอน้ำและเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งที่จะถึงนี้ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูแล้งตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน มอบหมายให้ สทนช.และจังหวัดสกลนคร ติดตามเร่งรัดขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการตามแผนหลักการพัฒนาหนองหารที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และให้กรมชลประทาน จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำของหนองหาร เพื่อใช้ในการชะลอ หน่วง กักเก็บน้ำ ป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ โดยจังหวัดสกลนคร กรมประมง และกรมทรัพยากรน้ำ เร่งดำเนินการขุดลอกดินตะกอน เพื่อเก็บกักน้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ กรมประมง เร่งดำเนินการฟื้นฟู อนุรักษ์ และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จังหวัดสกลนครและองค์การจัดการน้ำเสีย ควบคุมระบบการจัดการน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบเป็นการล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง
ด้านสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าแผนหลักการพัฒนาหนองหาร ตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี รวมระยะเวลา 10 ปี (ปี 63 -72) จำนวน 62 แผนงาน/โครงการ ดำเนินการโดย 14 หน่วยงาน ซึ่งผลการดำเนินงานปี 63-65 แล้วเสร็จ 19 โครงการ โดยในปี 63 มีจำนวน 4 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด เช่น โครงการสำรวจความลึกของท้องน้ำหนองหาร และโครงการกำจัดวัชพืชลอยน้ำในหนองหาร ระยะที่ 2 เป็นต้น ในปี 64 ได้รับงบประมาณ จำนวน 11 โครงการ แล้วเสร็จ 9 โครงการ เช่น โครงการขยายเขตจำหน่ายน้ำบ้านดอนเชียงคูณ หมู่ที่ 5 ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นต้น
ส่วนปี 65 ได้รับงบประมาณจำนวน 4 โครงการ แล้วเสร็จ 2 โครงการ เช่น โครงการกำจัดวัชพืชลอยน้ำในหนองหาร (บริเวณโดยรอบโรงบำบัดน้ำเสียทั้ง 2 แห่ง) เป็นต้น และแผนในปี 66 มีจำนวน 30 โครงการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 4 โครงการ และมีแผนปี 67 อีกจำนวน 34 โครงการ
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการตามข้อสั่งการโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการหน่วงและกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้กับประชาชนในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย