น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นร่างระเบียบฯ ฉบับใหม่ โดยให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2544 เพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมุ่งส่งเสริมกลไกการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและสภาพการณ์ปัจจุบัน
สำหรับร่างระเบียบฯ ฉบับใหม่มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การปรับปรุงบทนิยามของ "ของขวัญ" ให้รวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของ ป.ป.ช. และเพิ่มบทนิยามของคำว่าทรัพย์สินที่ให้เป็นของขวัญให้รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยมีการปรับปรุงในเรื่องข้อห้ามในการปฏิบัติ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะให้ของขวัญแก่ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการให้ตามปกติประเพณีนิยม ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท จากผู้ให้แต่ละคน และแต่ละโอกาส ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการกำหนดจำนวนเงินเพื่อความชัดเจนเพื่อรู้ถึงมูลค่าของขวัญ จากระเบียบเดิมกำหนดไว้ว่าของขวัญที่ให้นั้นต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินจำนวนที่ ป.ป.ช.กำหนด และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเพื่อมอบให้หรือจัดหาของขวัญให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นการขยายความการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมถึงทุกการกระทำ จากระเบียบเดิมกำหนดแต่เพียงว่าทำการเรี่ยไร่เงิน
ขณะเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ เว้นแต่เป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนนี้ได้เพิ่มตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชารับของขวัญแทน และเพิ่มข้อยกเว้นเรื่องการรับทรัพย์สินฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของ ป.ป.ช. จากเดิมกำหนดไว้เพียงคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนวิธีปฏิบัติในการรับของขวัญ ได้แก่ กรณีที่บุคคลในครอบครัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบในภายหลังว่าเป็นการรับของขวัญ โดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานการรับของขวัญนั้น ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบ เป็นการกำหนดวิธีการ และระยะเวลาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง จากเดิมระเบียบกำหนดไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนดไว้
ทั้งนี้ เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้มีคำสั่งคืนของขวัญนั้นแก่ผู้ให้โดยทันที และในกรณีที่ไม่สามารถคืนของขวัญได้ ให้ส่งของขวัญที่ได้รับให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และเก็บรักษาของขวัญนั้นไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานนั้นสั่งให้นำของขวัญออกขายและนำเงินที่ได้ส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นการเพิ่มบทบัญญัติวิธีปฏิบัติเมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับรายงาน และกำหนดวิธีปฏิบัติและการเก็บรักษาของขวัญให้มีความชัดเจน
ขณะที่บทลงโทษ ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด จงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญ โดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ประพฤติตนให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ประมวลจริยธรรมฯ หรือมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้ระเบียบนี้มีหลายประเภท จึงได้กำหนดบทลงโทษให้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้นๆ สังกัดอยู่ จากเดิมระบุเพียงว่า ให้ถือว่ากระทำความผิดทางวินัย
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สอดส่องดูแล และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของตน เป็นการเพิ่มหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ในการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ จากเดิมระบุว่าให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหน้าที่สอดส่องและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่หน่วยงานของรัฐ
ขณะเดียวกัน ในร่างระเบียบฯ ยังกำหนดไว้ด้วยว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือกรณีอื่นๆ ในโอกาสต่างๆ ตามปกติประเพณีนิยมด้วยวิธีการอย่างอื่นแทนการให้ของขวัญ เช่น การใช้บัตรอวยพร การลงนามในสมุดอวยพร การสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา และให้ผู้บังคับบัญชาส่งเสริมการสร้างค่านิยมการแสดงความยินดี ด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง แนะนำหรือกำหนดมาตรการจูงใจที่จะพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปในแนวทางประหยัด