น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ ได้กำหนดเป้าหมาย Zero ASF ในการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่มีแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และยังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ภายใต้มาตรการการป้องกันการลักลอบนำเข้าซึ่งเป็นพาหะของโรคทั้งเนื้อสัตว์และตัวสัตว์
ดังนั้นผู้ที่ลักลอบนำเข้าสัตว์หรือชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ระบุว่า การนำเข้าสัตว์ ชิ้นส่วน หรือซากสัตว์ต้องได้รับอุนญาต ต้องมีการตรวจโรคจากประเทศต้นทาง และประเทศต้นทางต้องไม่มีโรคระบาด หากมีการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือตัวสัตว์ จะไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัย หรือตรวจสอบโรคระบาดว่าปะปนมาด้วยหรือไม่
"เราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว กล่าวคือ ในระหว่างประเทศอื่นๆ มีโรคระบาดสัตว์ ปริมาณของสัตว์ชนิดนั้นจะลดลง การที่จะฟื้นกลับคืนมาใหม่ต้องใช้เวลา และต้องฟื้นฟูให้เกษตรกรกลับมามีอาชีพเลี้ยงสัตว์นั้นได้ และอยู่ได้" น.สพ.สมชวน กล่าว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสัตว์ต่อเนื่อง ต้องประคับประคองดูแลไม่ให้โรคระบาดกลับมาซ้ำได้ หากยังมีชิ้นส่วนสุกรหรือตัวสัตว์ที่มีโรคเข้ามา เป้าหมายที่ ASF จะเป็นศูนย์เป็นไปได้ยาก รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยังบอบช้ำ อยู่ระหว่างฟื้นฟู หากมีการลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้เปิดตลาด ไม่ได้รับอนุญาต จะยิ่งมาทำร้ายเกษตรกร เกษตรกรที่จะนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ต้องลงทุนสูง มีความเสี่ยงและท้อแท้จนไม่อยากกลับเข้ามาเลี้ยง เพราะมีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรราคาถูกมาแย่งตลาด จะทำให้เกษตรกรล้มเลิกอาชีพหายไป และการกลับมาเลี้ยงใหม่ทำได้ยาก ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศมาแล้ว
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกลุ่มต่างๆ ในการหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่โดยเร็ว ควบคู่กับมาตรการปราบปรามและมาตรการป้องกันโรค ดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวดและเป็นธรรม จะทำให้อีกไม่นานเกษตรกรก็จะกลับมาลงทุน
"เป็นเรื่องสำคัญที่กรมปศุสัตว์จะต้องปกป้องเกษตรกร ไม่ให้มีการฉวยโอกาสในช่วงที่เกษตรกรกำลังอ่อนแอ และต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์" น.สพ.สมชวน กล่าว