น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ฉบับปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์นั้น ขณะนี้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้การคิดดอกเบี้ยเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยตามประกาศฯ ฉบับนี้ เป็นการคำนวณแบบ "ลดต้นลดดอก" แต่คำว่า "ลดต้นลดดอก" นั้น จะต้องไปยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี (Effective Interest Rate) เช่น กรณีดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) นั้น จะต้องยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี คือ การคิด "อัตราดอกเบี้ยคงที่" นั้นๆ จะต้องไม่เกินกว่า "อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี" ที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ผู้เช่าซื้อสามารถตรวจสอบได้จากตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายสัญญา ซึ่งจะดูได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไร และคำนวณเป็นดอกเบี้ยรายเดือนเท่าไร ถ้าผู้เช่าซื้อไปดูดอกเบี้ยตามสัญญาแนบท้าย แล้วมาคำนวณ ดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด หากเกินเพดาน ก็ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ได้แก่ การคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ต้องคิดในอัตราที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด
ส่วนในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ดังนี้
- กรณีรถยนต์ใหม่ ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี
- กรณีรถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี
- กรณีรถจักรยานยนต์ ต้องไม่เกินอัตรา 23% ต่อปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุก 3 ปี
นอกจากนี้ ประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ยังได้ระบุถึงการคำนวณยอดหนี้ผิดนัด ซึ่งก่อนหน้าผู้ประกอบการบางส่วนนำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ประกาศฯ ฉบับใหม่ จึงได้กำหนดให้คิดเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้
ในส่วนของการเลิกสัญญาและการยึดรถ ประกาศฯ ฉบับเดิมเขียนไว้ว่า หนี้ที่ยังขาดอยู่ เจ้าหนี้เช่าซื้อสามารถเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อได้ โดยสามารถเรียกเก็บได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ประกาศฯ ฉบับใหม่ จะให้คำนวณเฉพาะส่วนหนี้ที่ยังขาดชำระเท่านั้น ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้
"ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ส่วนสัญญาเช่าซื้อฯ ที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 10 ม.ค. 66 จะยังคงเป็นไปตามประกาศฯ ฉบับปี 2561 จึงขอให้ประชาชนที่กำลังจะเช่าซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ และผู้ประกอบการทำความเข้าใจกับกฏหมายให้ดี และขอเน้นย้ำว่า วัตถุประสงค์หลักของประกาศฯ นี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน" น.ส.รัชดา กล่าว