นายกฯ เปิด APEC University Leader’s Forum ยกระดับความร่วมมือรับความท้าทายใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday November 16, 2022 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษงาน "APEC University Leaders' Forum (AULF)" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022 โดยมีผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน The Association of Pacific Rim Universities หรือ APRU ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิค 60 แห่ง จาก 19 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเปค มาร่วมประชุมกันในครั้งนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานวันนี้ถือเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่างๆ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป

สำหรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ เรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด "Open Connect Balance" เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 โดยในข้างหลัง ซึ่งผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองเอกสาร "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG" เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากความสำคัญด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขยายไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจ จะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือ การทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา ความถูกต้องของข้อมูล และการเผยแพร่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอม อีกทั้ง การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีน

ด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง "การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า" เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคการศึกษาทั้งหมด ที่ได้ร่วมมือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ "นวัตกรรมเพื่อสังคม" โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test รวมถึงนวัตกรรมการรักษา "วัคซีนใบยา" ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้น และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงวิชาการในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หวังว่าการพบกันครั้งนี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จและได้เชิญชวนผู้ร่วมงานไปชมนิทรรศการ นำเสนอความสำเร็จ การขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจ BCG ที่จัดแสดงในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมบอกว่าต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน วันนี้สำคัญที่สุด คือต้องสร้างสันติสุขในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดทุกเรื่องทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นเราต้องรักกัน และขอต้อนรับด้วยรอยยิ้มสยาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณบรรดาผู้นำด้านการศึกษาที่เข้าร่วมงาน ขณะที่ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก และอธิบดีมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า "I like your smile" ซึ่งนายกรัฐมนตรี ตอบว่า "Thank you" พร้อมทำสัญลักษณ์มือ I love you ก่อนขึ้นรถและเปิดหน้ากากอนามัยโชว์รอยยิ้มสยาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ