ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. CDC) กำลังติดตามโอมิครอน สายพันธุ์ใหม่ "BN.1" ซึ่งถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยลำดับที่ 6 ที่สหรัฐต้องเฝ้าติดตาม โดยไทยพบแล้วไม่น้อยกว่า 5 ราย และมีความเป็นไปได้ที่อาจระบาดแทนที่ BA.5
จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรม GISAID พบ BN.1 ในประเทศไทยจากผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 5 ราย ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยลำดับที่ 3 ที่ไทยควรเฝ้าติดตาม (ลำดับที่ 1 คือ BA.5 ลำดับที่ 2 คือ BA.2.75)
โอมิครอน BN.1 [BN.1.3 (87.50%), BN.1 (6.25%), BN.1.2 (6.25%)] ในประเทศไทยมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.5 [BA.5.2 (55.04%), BA.5.2.26 (13.51%), BA.5.2.1 (11.69%), BA.5.2.22 (6.57%), BA.5.1 (3.02%)] ถึง 131% โอมิครอน BN.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.75 [BA.2.75 (24.49%), BA.2.75.1 (8.16%), BA.2.75.2 (8.16%) ประมาณ 47% จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่โอมิครอน BN.1 จะระบาดมาแทนที่โอมิครอน BA.5 ในประเทศไทย เมื่อ BA.5 อ่อนกำลังลง เนื่องจากมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.75 ซึ่งเป็นโอมิครอนลำดับ 2 รองจาก BA.5 ที่ระบาดในไทย
โอมิครอน BN.1 มีชื่อเต็มว่า B.1.1.529.2.75.5.5.1 เป็นทายาทของโอมิครอน BA.2 มีศักยภาพสูงในการหลบหนีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน