น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา
โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม โดยในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดตั้ง หรือประกอบสินค้านั้น หรือในกรณีที่ผู้บริโภคประกอบสินค้า หรือติดตั้งตามคู่มือที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้งหรือประกอบสินค้าโดยไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน
โดยได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ดังนี้
- ผู้บริโภคสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า
- เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า
- ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา
โดยการใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่มีการทำข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้า ซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด และเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ
นอกจากนี้ ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้
- ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง
- ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจ จนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง
- ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควร เพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าซึ่งซื้อขายกันทั่วไป เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และวิธีพิจารณาความแพ่งที่เป็นไปตามหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องพิสูจน์ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน
แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการกระบวนการผลิตสินค้าหลายชนิด ทำให้สินค้ามีลักษณะหรือกลไกที่ซับซ้อน ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะมีสัญญาที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าฯ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ สัญญาการขายหรือเช่าซื้อสินค้าใช้แล้ว การขายหรือเช่าซื้อสินค้าตามสภาพ และการขายทอดตลาด