เกาหลีใต้ได้เริ่มกำจัดไก่หลายพันตัวหลังจากที่มีการยืนยันว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดในประเทศและทำให้สัตว์ปีกล้มตายจำนวนมากนั้นเป็นไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1
เจ้าหน้าที่ได้นำตัวอย่างจากไก่ นกอพยพ และแรงงานต่างชาติที่ฟาร์มติดเชื้อแห่งหนึ่งในเมืองกิมเจ ซึ่งห่างจากทางตอนใต้ของกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ 260 กิโลเมตร (162 ไมล์) มาตรวจสอบเพื่อหาต้นตอของเชื้อดังกล่าวต่อไป
กระทรวงเกษตรเกาหลีใต้กล่าวว่า ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ได้ระงับการนำเข้าไก่สดจากเกาหลีใต้ แต่ยังคงสามารถส่งออกสัตว์ปีกปรุงสุกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ตามปกติ
กระทรวงเกษตรกล่าวว่า ไก่ 270,000 ตัวจากฟาร์มเลี้ยงไก่ 5 แห่ง รวมถึงไข่ไก่ทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าวภายในรัศมี 500 เมตรจะถูกกำจัด และได้ออกกฎห้ามเคลื่อนย้ายไก่และเป็ดภายในรัศมี 10 กิโลเมตร
คิม ชาง ซ็อบ หัวหน้าสัตวบาลประจำกระทรวงเกษตรกล่าวว่า เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกดังกล่าวอาจมาจากนกอพยพหรือแรงงานต่างชาติซึ่งมาจากมองโกเลีย เวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นที่ที่มีรายงานพบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก
ไก่ประมาณ 2,400 ตัวจากทั้งหมดประมาณ 150,000 ตัว ที่ถูกเลี้ยงไว้ในฟาร์มแห่งหนึ่งล้มตายลงเมื่อวันเสาร์-วันอังคารที่ผ่านมา โดยเจ้าของฟาร์มดังกล่าวได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทราบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
โดยเจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นพื้นที่ดังกล่าวทันที และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายไก่หรือไข่ไก่เข้าและออกจากฟาร์ม รวมถึงฟาร์มใกล้เคียงอีก 12 แห่ง
เกาหลีใต้รายงานพบการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 7 ครั้งนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2549 - เดือนมี.ค.ของปีที่แล้ว ส่งให้มีการระงับการส่งออกสัตว์ปีกไปยังญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศอื่นๆชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม องค์การสุขภาพสัตว์โลกได้ประกาศให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ปลอดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเมื่อเดือนมิ.ย.ของปีที่ผ่านมา
เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 230 คน นับตั้งแต่ปลายปี 2546 แต่ยังไม่มีรายงานพบชาวเกาหลีใต้ติดเชื้อไข้หวัดนกดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกซึ่งปกติจะแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์โดยตรง อาจจะกลายพันธุ์และแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงของโลก สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย วณิชชกร ควรพินิจ/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--